"...แนวทางของ กสทช. ก็คงต้องได้เงินเข้ารัฐ แต่ที่สำคัญ คือ ราคาเปิดให้บริการจะต้องเป็นราคาที่ถูกกว่าการให้บริการ ของ 3G, 4G เพราะฉะนั้น เมื่อราคาถูกเอกชนก็จะต้องลงทุน ราคาประเมิน มูลค่าคลื่นก็จะต้องถูก ต้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่าอยากได้เงินจากเอกชนแพง แต่การเปิดให้บริการจะให้มีราคาถูก แบบนั้นมันเป็นไปไม่ได้..."
ในช่วงเช้าวันที่ 26 ส.ค.2562 ตามเวลาท้องถิ่น ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) มีกำหนดการเข้าปรึกษาหารือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union :ITU ) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมทั่วโลก มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินงานคลื่น 5 G ของประเทศทั่วโลก เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาประมูลคลื่น 5 G ของไทย ซึ่งจะมีการจัดทำเป็นแผนงานเสนอให้บอร์ด กสทช. และรัฐบาล พิจารณาในเร็วๆ นี้
โดยก่อนหน้าการเข้าพบ ITU เพื่อปรึกษาหารือเรื่องดำเนินงานคลื่น 5 G ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนไทย ที่ร่วมคณะเดินทางมาทำข่าว เกี่ยวกับความคืบหน้าและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประมูลคลื่น 5G ของประเทศไทยเป็นทางการ
@ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
“จากรายงานของประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ยืนยันว่า เขาจะเปิดให้บริการ 5G ในเชิงธุรกิจ ประมาณเดือน มิ.ย. 63 ภายหลังจากที่ได้มีการทดลองระบบเกือบทั่วประเทศมาแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยอย่างมาก”
นายฐากร เริ่มต้นเปิดประเด็นข้อมูลความสำคัญของเรื่องนี้ จากความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้าน
ก่อนจะขยายความต่อว่า "อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่า โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการลงทุนอยู่ในขณะนี้ โครงสร้าง 5G มีความสำคัญไม่แพ้กับการลงทุนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจประเภทอื่นๆเลยแม้แต่น้อย เพราะโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ 5G สามารถต่อยอดทุกธุรกิจสำคัญที่จะตามมาในอนาคตได้จำนวนมา เช่น ทีวีดิจิทัล ก็จะมีการต่อยอดทางธุรกิจมากมายหลังการมาของ 5G เช่นกัน
นายฐากร ระบุว่า อย่างไรก็ดี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน กำลังเดินหน้าเปิดให้บริการ 5G สำหรับประเทศไทย ก็มีแผนที่จะเปิดให้บริการช่วงประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เช่นกัน โดยจะเปิดให้บริการภาคการผลิตเป็นภาคแรก แต่การที่เพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ ระบุว่า จะเปิดให้บริการทั่วไปทั้งหมดเลย นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากสำหรับประเทศไทย เพราะการเปลี่ยนผ่านงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ถ้าไทยก้าวตามไม่ทันประเทศอื่น ปัญหาใหญ่จะตามมาหลายเรื่อง โดยเฉพาะฐานการผลิตของไทย ที่อาจจะมีการย้ายไปต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งมันจะมีผลเสียต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างมาก
นายฐากร ย้ำว่า "ในวันนี้ ตั้งใจพาสื่อมวลชน ร่วมคณะเดินทางมาพบ ITU ที่เป็นผู้ประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ทั้งของเก่าและของใหม่ที่เรากำลังจะดำเนินการในขณะนี้และผลจากการที่ ITU เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องโทรคมนาคมทั่วทั้งโลกอยู่แล้ว ดังนั้น ITU จะต้องมีข้อมูลว่า เรื่อง 5G ของประเทศอื่นเป็นอย่างไร เขาเดินหน้าไปถึงไหนกันแล้ว ของไทยเป็นอย่างไร และเราควรจะต้องเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรด้วย"
นายฐากร ยังระบุด้วย ว่า จากการศึกษาข้อมูลการดำเนินงานเรื่อง 5G ของ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ทำให้ได้รับทราบว่า ในขั้นตอนการทำงานมีการมอบให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไปทำฟรีเลย หรืออาจจะได้เงินตอบแทนน้อยมาก นั้นเป็นเพราะประเทศเหล่านี้มองว่า ไม่ทำ 5Gอาจจะไม่เกิดขึ้น ก็เลยรีบมอบคลื่นให้ภาคเอกชนไปดำเนินการ
ส่วนของไทย ถ้าพูดถึงเรื่องการลงทุนในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันกำลังมีปัญหานี้อย่างมาก เพราะตอนที่ไทยเปลี่ยนโครงสร้างจาก 2G มาเป็น 3 G เอกชนลงทุนเยอะมาก เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่เลย แต่ตอนที่เปลี่ยนจาก 3G มาเป็น 4G เอกชนลงทุนไม่เยอะ เพราะว่าเป็นโครงสร้างในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ตอนนี้ที่กำลังจะเปลี่ยนจาก 4G มาเป็น 5G ต้องลงทุนเยอะมาก
เบื้องต้นบริษัทมือถือค่ายดีแทค ได้แจ้งกับกสทช.ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการลงทุนจาก 4G มาเป็น 5G อาจจะต้องลงทุนถึง 2 แสนล้านบาท ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งนี้ และถ้า กสทช. มีการประเมินมูลค่าการลงทุนคลื่นความถี่แพงมาก คงไม่เข้าประมูลแน่นอน เพราะไม่มีเงินลงทุน ซึ่งตรงนี้ กสทช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าไม่มีใครมาลงทุนเลย ก็จะมีปัญหาตามมามากมายในเรื่องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปได้
“แต่สิ่งสำคัญที่สุด อยากให้ทุกคนได้ร่วมกันพิจารณา คือ หลายประเทศเขามองคลื่นความถี่ประเมินมูลค่าถูกให้เอกชนไปลงทุน แต่เมื่อประกอบกิจการแล้ว ประชาชนต้องได้ใช้ในอัตราที่ถูกลงไปด้วย ถ้าเป็นไปตามนี้ คิดว่าประชาชนคงรับได้ เช่น ขณะนี้เราเปิดให้บริการอินเตอร์เน็ต 1 นาที ต่อ 26 สตางค์ ต่อ 1 เมกะไบร์ท ถ้าเราประเมินมูลค่าคลื่นใหม่ ได้คลื่นในราคาถูก ให้เอกชนนำเงินไปลงทุน เราอาจจะได้ใช้แค่ 1 กิกะไบต์ อาจจะประมาณ 9 สตางค์ หรือ 6 สตางค์ อันนี้ผมคิดว่าประชาชนก็คงจะยอมรับได้ เพราะราคาถูกลง"
"ขณะที่ภาครัฐจะได้ประโยชน์หรือเงินเข้ารัฐน้อยลง แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพใหญ่ อาจจะออกมามากขึ้น ตรงนี้คงจะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อขับเคลื่อน 5G ออกมาให้ได้ เพราะจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมมากขึ้น”
นายฐากร กล่าวย้ำว่า "แต่ขณะนี้ ทั้ง 3 ค่ายมือถือ เข้าพบผมและก็บอกว่า ไม่มีเงินไปลงทุน ยังไงก็ตามขอชะลอเรื่อง 5G ออกไปก่อน ผมก็พยายามบอกแล้วว่า ถ้าไม่ลงทุนก็ไม่ได้ ไม่เดินหน้าก็ไม่ได้ เราต้องช่วยกันในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะว่าถ้าไม่ลงทุนไม่ทำอะไรเลยประเทศไทยก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ คู่แข่งของเรา ก็เดินนำไปเรื่อยๆ ในตอนนี้ มันเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะว่าเศรษฐกิจของทั่วโลก กำลังตกต่ำ ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของประเทศไทย ก็จะได้รับผล กระทบไปด้วย เราน่าจะรับปัญหาส่วนนี้ไม่ได้ " (ฟังคลิปอธิบายเหตุผลประกอบ ที่นี่)
เลขาธิการ กสทช. อธิบายต่อว่า จากการศึกษาข้อมูลในส่วนของประเทศจีนเท่าที่ทราบ ให้ฟรีเอกชนไปลงทุนเลย แต่ของไทยคงทำแบบนั้นไม่ได้ คงต้องได้เงินเข้ารัฐบ้าง เพราะรัฐก็ต้องการได้เงิน
"แนวทางของ กสทช. ก็คงต้องได้เงินเข้ารัฐ แต่ที่สำคัญ คือ ราคาเปิดให้บริการจะต้องเป็นราคาที่ถูกกว่าการให้บริการ ของ 3G, 4G เพราะฉะนั้น เมื่อราคาถูกเอกชนก็จะต้องลงทุน ราคาประเมิน มูลค่าคลื่นก็จะต้องถูก ต้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่าอยากได้เงินจากเอกชนแพง แต่การเปิดให้บริการจะให้มีราคาถูก แบบนั้นมันเป็นไปไม่ได้"
"เกี่ยวกับเรื่องราคา เข้าใจว่าทุกคนไปมองในเรื่องผลการประมูล 4G ที่ออกมา ที่ได้เงินราคาสูง แต่ตอนนี้ต้องมองว่า เอกชนยังไม่มีผลตอบแทนตอบกลับมาจากการลงทุนที่ทำไปแล้ว เขาก็กลัวว่า ถ้าไปลงทุนเปิดประมูล 5G แล้ว มีการลงทุนซ้ำเข้ามาอีก ครั้งนี้จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน เขาจะเจอวิกฤติเหมือนกับกรณีทีวีดิจิทัลก็ได้ เขาจึงระวัง ไม่อยากลงทุน แต่ถ้าไม่ลงทุน เราเองก็จะเจอปัญหาหา อย่างแน่นอน "
เลขาธิการ กสทช. ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบัน กสทช.กำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการประมูลคลื่น 5G ทราบว่า ปัจจุบันอาจจะมีเอกชนต่างชาติรายใหม่ ที่สนใจเข้ามาร่วมประมูลด้วย แต่เพื่อให้การดำเนินงานเรื่อง 5G เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คิดว่าจะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ ขึ้นมาขับเคลื่อนผลักดันเรื่องให้สำคัญ ขณะที่นายกรัฐมนตรี น่าจะต้องลงมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่มีอำนาจมาตรา 44 ในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหมือนในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ติดขัดหลายอย่าง (ฟังคลิปอธิบายเหตุผลประกอบ ที่นี่)
ทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์และปมปัญหาการประมูลคลื่น 5G ของไทย ผ่านมุมมอง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่เกิดขึ้นล่าสุดในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/