กรีนพีซฯ -มูลนิธิบูรณะนิเวศ หวังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 บรรจุ ‘ค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก’ ในวาระเร่งด่วน ‘ธารา บัวคำศรี’ เรียกร้องผู้นำทุกปท. ลงนามข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล สกัดเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน
วันที่ 18 มิ.ย. 2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดแถลงข่าวเรื่อง “อาเซียน ไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยให้นำประเด็นการค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนของการประชุมครั้งนี้
นายธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมา ไม่ว่าในประเทศไทย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ พบว่า หลายประเทศในอาเซียนยังขาดมาตรการเข้มงวดในการดูแลนำเข้าขยะ ยกตัวอย่างประเทศไทย มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน เปิดโอกาสให้สร้างโรงงานโดยไม่ต้องขออนุญาต
“จริง ๆ เราทำเรื่องอาเซียนมานาน เรารู้ว่าอาเซียนยังมีความหวังอยู่ จึงอยากเห็นว่า ประเด็นการค้าสารพิษ กากของเสีย ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกหรืออิเล็กทรอนิกส์ จะถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุม แต่น่าเสียดายไม่มีเรื่องนี้ โดยมีเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดนและมลพิษพลาสติกในทะเล” ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซฯ กล่าว และว่าทั้งที่เรื่องขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องสำคัญ ต้องผนวกเข้าไปด้วย เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย มีการส่งกากของเสียกลับไปยังประเทศต้นทาง จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนพลิกผันให้ประเทศอาเซียนมารวมตัวกันปกป้องไม่ให้กลายเป็นถังขยะของโลก
นายธารา ยังกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศอาเซียนยังไม่มีกฎหมายร่วมกัน เข้าใจว่ายังไม่มีการดูแลเคลื่อนย้ายขยะข้ามพรมแดนระหว่างกันในอาเซียน อย่างไรก็ตาม มีอนุสัญญาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน แต่กลับพบว่า ผ่านมาหลายปีแล้ว ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ขณะที่ขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้กลไกผ่านอนุสัญญาบาเซล ( Basel Ban Amendment) ปรับใช้ในระดับภูมิภาค
“ถ้าทุกประเทศในอาเซียนให้สัตยาบันในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล เชื่อว่าจะช่วยจัดการและควบคุมการเคลื่อนย้ายขยะข้ามพรมแดนได้ดีขึ้น”
ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซฯ กล่าวต่อว่า มีเพียง 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ให้สัตยาบันในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล จากประเทศสมาชิกทั้งหมด ทำให้เกิดช่องโหว่ ส่วนประเทศไทยจ่อคิวมานานแล้ว แต่ยังไม่ลงนามในสัตยาบันนั้น ซึ่งอาจเกิดจากขาดแรงจูงใจทางนโยบาย เพราะหน่วยงานประสานงานอย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษเป็นเพียงหน่วยงานระดับกรม จึงทำอะไรไม่ได้มาก จำเป็นต้องอาศัยการสั่งการจากรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการแห่งชาติ ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และรัฐบาลไม่ค่อยสนใจในประเด็นนี้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาส ใช้วิกฤตที่เกิดขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้ามาจากจีน หรือประเทศต่าง ๆ ยกระดับจัดการปัญหามลพิษจากขยะเหล่านี้
“ความจริงแค่บรรจุเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้าไปอยู่ในการพูดคุย จะเป็นเวทีเศรษฐกิจก็ได้ หยิบปัญหานี้ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งในอาเซียนเจอเหมือนกัน เราจึงหวังว่าจะเห็นวาระนี้เกิดขึ้น และในเมื่อเรามีปัญหาร่วมกัน เช่น หมอกควันข้ามพรมแดน อดีตสิงคโปร์และอินโดนีเซีย เคยแก้ปัญหาหมอกควันมาแล้วจนสำเร็จ แล้วทำไมเราจะทำเรื่องนี้ไม่ได้ ดังนั้นต้องอาศัยแรงผลักเล็กน้อยในการขยับให้ทุกประเทศสนใจปัญหาร่วมกัน”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ประเทศไทยยังไม่มีคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ อาจเป็นอุปสรรคผลักดันเรื่องดังกล่าว นายธารา ระบุเป็นความท้าทายมากกว่า โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนจะมีเพียงตัวแทนของกระทรวงต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เราจึงเห็นเป็นความท้าทาย แต่การผลักดันประเด็นเข้าไปในการพูดคุย มองไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการประชุมมีเกือบทุกวัน แค่หยิบขึ้นมาพูด แล้วทำให้เป็นประเด็นหนึ่งในวาระ ไม่น่าเสียหาย โดยไม่จำเป็นต้องรอ ครม. ชุดใหม่
ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า การค้าขยะข้ามพรมแดน หรือการนำเข้าส่งออกขยะจากต่างประเทศมายังประเทศไทย สินค้าเหล่านั้นถูกควบคุมโดยอนุสัญญาบาเซล โดยคุ้มครองไม่ให้ค้าข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาดังกล่าวมานานแล้ว แต่กลับคุ้มครองไม่ได้ เนื่องจากข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นหลังจากประเทศจีนมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะ ทำให้ต้องส่งออกมายังหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงนักลงทุนของประเทศจีนยังเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ไขพ.ร.บ.โรงงาน โดยการแก้ไขต้องเน้นการมีส่วนร่วมภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงต้องลงนามในข้อแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล เพราะจะทำให้ได้รับการคุ้มครอง ห้ามทุกประเทศส่งขยะมายังประเทศไทย
ตลอดจนในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ต้องมั่นใจว่าจะสอดคล้องและปฏิบัติตามเจตนารมย์ของอนุสัญญาบาเซล รวมถึงเรื่องอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่างๆ และยังขอร้องไปยังผู้นำประเทศอาเซียนให้การรับรองภาคแก้ไขของอนุสัญญาดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ให้ภูมิภาคกลายเป็นถังขยะโลก
ขณะที่ Mr.Heng Kiah Chun กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำมาเลเซีย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย ไม่ใช่ปัญหาของมาเลเซียเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาของอาเซียนด้วย จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์แผน โดยรัฐบาลทุกประเทศต้องร่วมมือกัน จำเป็นดำเนินการเร่งด่วนยุติการส่งออก นำเข้า ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศนอกภูมิภาคและจัดทำระบบเพื่อทำให้โลกนี้ปลอดขยะ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรีนพีซฯ จะเดินหน้ารณรงค์ออนไลน์ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อเปิดให้สาธาณะชนร่วมเรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนกอบกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกตามข้อเสนอต่อไปนี้
1.ประเทศสมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันเพื่อบังคับใช้การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค รวมถึงกากของเสียที่นำเข้ามาในนามของการ “รีไซเคิล” โดยรับรองว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะให้สัตยาบันในข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) เพื่อป้องกันการเล็ดลอดข้ามพรมแดนของกากของเสียอันตราย
2.สร้างนโยบายระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมีนัยสำคัญและเอื้อให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้า
3.ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์ (zero waste)ที่ปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาแบบแผนการถลุงใช้ทรัพยากร การผลิต การบริโภคและการเกิดของเสียอย่างไร้ขีดจำกัด .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/