“...เงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาลคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกราย ยกเว้นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ได้โควตารัฐมนตรี จะต้องลาออกจาก ส.ส. เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เหลือ ถูกเลื่อนลำดับขึ้นมา … หากถึงเวลาโหวตร่างกฎหมายสำคัญ บรรดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นรัฐมนตรี ติดภารกิจราชการ ไม่อาจมาประชุมได้ อาจทำให้เสียงของฝ่ายรัฐบาลแพ้ฝ่ายค้านได้ เงื่อนไขเหล่านี้ คือกลยุทธ์ที่จะช่วยแก้ไขปัญหารัฐบาล ‘เสียงปริ่มน้ำ’ ที่กำลังเผชิญอยู่ได้นั่นเอง...”
ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 คืบหน้าลงตัวเกือบ 100% แล้ว เหลือเพียงแค่คุณสมบัติของรัฐมนตรีบางรายเท่านั้น ที่ถูกสั่งการให้ปรับแก้ไขรายชื่อเสียใหม่
ยกตัวอย่าง กรณีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เดิมถูกวางตัวไว้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่ถูกสังคมตั้งแง่เรื่อง ‘ภาพลักษณ์’ จึงอาจให้น้องสาว น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ลงแทน หรือกรณีนายธรรมนัส พรหมเผ่า ว่ากันว่าต่อรองจนได้โควตาเก้าอี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แต่ภาพลักษณ์ไม่ผ่านเช่นกัน จึงอาจให้น้องชาย นายอัครา พรหมเผ่า รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พะเยา มาเป็นแทน เป็นต้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ระบุว่า เงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาลคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกราย ยกเว้นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ได้โควตารัฐมนตรี จะต้องลาออกจาก ส.ส. เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เหลือ ถูกเลื่อนลำดับขึ้นมา ส่วน ส.ส.แบ่งเขต ที่มานั่งรัฐมนตรี ไม่ต้องลาออกจาก ส.ส.
แหล่งข่าว ระบุว่า ขณะนี้ ฝ่าย 19 พรรครัฐบาล มีจำนวน ส.ส. 254 ราย ส่วน 7 พรรคฝ่ายค้าน มีจำนวน ส.ส. 246 ราย หากถึงเวลาโหวตร่างกฎหมายสำคัญ แต่บรรดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นรัฐมนตรี ติดภารกิจราชการ ไม่อาจมาประชุมได้ อาจทำให้เสียงของฝ่ายรัฐบาลแพ้ฝ่ายค้านได้
เงื่อนไขเหล่านี้ คือกลยุทธ์ที่จะช่วยแก้ไขปัญหารัฐบาล ‘เสียงปริ่มน้ำ’ ที่กำลังเผชิญอยู่ได้นั่นเอง
สอดคล้องกับคำพูดของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแคนดิเดตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันผ่านสื่อว่า ผู้ที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องลาออกจาก ส.ส. เพื่อเลื่อนให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปได้เป็น ส.ส. เข้าไปทำงานในสภา อย่างไรก็ดีเงื่อนไขนี้ไม่ครอบคลุมถึง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ใช้เฉพาะกรณีรัฐมนตรีเท่านั้น
ว่ากันว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ที่ได้โควตารัฐมนตรี เตรียมให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ลาออกเก้าอี้ ส.ส. กันแล้ว เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 ราย ได้โควตา รมว.ต่างประเทศ คาดว่าจะดัน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ ‘หม่อมเต่า’ ให้ทำหน้าที่นี้ ดังนั้นเมื่อ ‘หม่อมเต่า’ ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 จะถูกเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 ราย และอาจไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี อย่างน้อย 5 ราย ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 แคนดิเดต รมว.ศึกษาธิการ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 แคนดิเดต รมว.ยุติธรรม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 3 แคนดิเดต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 แคนดิเดต รมว.พลังงาน และนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 8 แคนดิเดต รมช.คลัง
ดังนั้นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลื่อนลำดับขึ้นมาจากลำดับที่ 20-24 รวม 5 ราย ได้แก่ นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ นายยุทธนา โพธสุธน นายต่อศักดิ์ อัศวเหม นายชวน ชูจันทร์ และนายภิรมย์ พลวิเศษ
พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20 ราย และอาจไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี อย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 แคนดิเดต รมช.ศึกษาธิการ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 8 แคนดิเดต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 6 แคนดิเดตรองนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องลาออก เนื่องจากเป็นหัวหน้าพรรค จึงมี ส.ส.บัญชีรายชื่อลาออกเบื้องต้น 2 ราย
เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ลาออก ทำให้ลำดับที่ 21 คือนายสุทัศน์ เงินหมื่น ได้เลื่อนมาเป็น ส.ส. แล้ว ดังนั้นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลื่อนลำดับขึ้นมาจากลำดับที่ 22-23 คือ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม และนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12 ราย และอาจไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 แคนดิเดต รมว.คมนาคม นายทรงศักดิ์ ทองศรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 6 แคนดิเดต รมช.มหาดไทย นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 7 แคนดิเดต รมช.พาณิชย์ ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 แคนดิเดต รมว.สาธารณสุข ไม่ต้องลาออก เนื่องจากเป็นหัวหน้าพรรค จึงมี ส.ส.บัญชีรายชื่อลาออกเบื้องต้น 3 ราย
ที่น่าสนใจคือ นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 แม่ทัพใหญ่ภาคใต้พรรคภูมิใจไทย ที่ได้โควตา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แต่ให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ สามี ดำรงตำแหน่งแทน อาศัย ‘ช่องโหว่’ ของเงื่อนไขนี้ ทำให้นางนาที ไม่จำเป็นต้องลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนนายพิพัฒน์ได้เก้าอี้รัฐมนตรีด้วย อาจเรียกได้ว่า ‘ยิงนัดเดียว ได้นกสองตัว’
ดังนั้นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลื่อนลำดับขึ้นมาจากลำดับที่ 13-15 คือ นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ นายทวีวัฒน์ ฤทธิ์ฤาชัย และนางศุภธินันท์ ไถวสินธิ์
พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 ราย และอาจไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างน้อย 1 ราย ได้แก่ นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 แคนดิเดต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 คือ นายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง จะได้เลื่อนลำดับขึ้นมา
พรรคชาติพัฒนา มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 ราย และอาจไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างน้อย 1 ราย ได้แก่ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 แคนดิเดต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีนายเทวัญเป็นหัวหน้าพรรค จึงไม่ต้องลาออกจาก ส.ส.
หากนับรวม 6 พรรค มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีอย่างน้อย 12 ราย ต้องลาออกจาก ส.ส. และเลื่อนลำดับปาร์ตี้ลิสต์รอง ๆ ขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน
ทั้งหมดคือความ ‘เขี้ยวลากดิน’ ของฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล แก้ไขปัญหา ‘เสียงปริ่มน้ำ’ ที่สำคัญกลยุทธ์นี้ ทำให้รัฐบาลยังคงมีเสถียรภาพ ไม่ต้องกังวลว่า ภารกิจรัฐมนตรี จะชนกับภารกิจในสภาผู้แทนราษฎร
ท้ายที่สุดหมากกระดานนี้ ฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลจะคุมเกมอยู่หรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จาก BBC Thai, ภาพรัฐสภาจาก Post today