"…หากเราต้องเผชิญกับการระบาดหนัก ควรเตรียมตัวว่า เมื่อล็อกดาวน์เราจะอยู่กันอย่างไร จะต้องดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กับการล็อกดาวน์ด้วย กล่าวคือ จะต้องค้นหาผู้ป่วยอย่างจริงจัง แต่หากเราไม่ปฏิบัติตาม ถึงจะรักษาผู้ป่วยแบบให้กักตัวที่ หรือแยกกักตัวในชุมชน จะป่วยการ คือ จะต้องทำไปพร้อมๆกัน เพราะการล็อกดาวน์นั้น แม้จะช่วยลดคนไข้รายใหม่ให้ช้าลง แต่คนที่อยู่ในระบบรักษาจะต้องจัดการให้เร็ว เพราะถ้าจัดการของตกค้างไม่ได้ ของตกค้างจะกลายเป็นของใหม่ขึ้นมา…"
…………………………………………………
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.2564 ว่า สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ระบาดลามไปกว่า 71 จังหวัด ครอบคลุมประเทศไทยถึง 63% ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ได้รายงานสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงถึง 10,305 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 397,612 ราย และเสียชีวิตอีก 80 ราย
ทำให้รัฐตัดสินใจประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ยกระดับคุมเข้มโควิด หวังควบคุมสถานการณ์ให้ได้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา และนราธิวาส ที่ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากรอเตียง จนถึงขั้นเสียชีวิตในบ้าน และโรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ล้นออกมาได้แล้ว
ดังนั้นแล้วการยกระดับมาตรการด้วยการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาโควิดหรือไม่? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์และรวบรวมทัศนะของบุคลากรการแพทย์ มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat มีใจความตอนหนึ่งว่า ภาพรวมของการระบาดในเดือน ก.ค.2564 มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนว่าการระบาดรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุผล 7 ข้อ ได้แก่ 1. การระบาดขยายวงจนมีเคสทุกจังหวัดติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา 2. พื้นที่กราฟสีเขียว ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายงานการติดเชื้อใหม่ 1-10 รายนั้น ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 3. พื้นที่กราฟสีเหลือง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายงานการติดเชื้อใหม่ 11-50 ราย เริ่มแคบลงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
4. จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อใหม่ 51-100 ราย ขยายกว้างขึ้นเร็ว ซึ่งตามธรรมชาติของการระบาดอาจมีโอกาสขยายวงระบาดได้มากและเร็ว ขอให้จังหวัดกลุ่มนี้ช่วยกันขันน็อตมาตรการป้องกันให้เข้มข้น หากรอส่วนกลางไม่ทันกาล ระดับจังหวัดทั้งพ่อเมืองและลูกเมืองควรช่วยกันปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดของเราให้ได้ และ 5. จังหวัดที่มีการรายงานติดเชื้อใหม่ มากกว่า 100 ราย มีจำนวนคงที่มาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้ลดลง
@ การระบาดที่รุนแรง-ยาวนาน ชี้ให้เห็นการแก้ปัญหาที่ยังขาดประสิทธิภาพเพียงพอ
รศ.นพ.ธีระ ระบุอีกว่า ผลลัพธ์ที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ การระบาดรุนแรงและคุมไม่อยู่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายและมาตรการที่ไม่เพียงพอที่จะจัดการระบาดของโรค มาตรการน่ารักแบบเทเลทับบี้ และปิดประตูตีแมวนั้น หากทำไปจะไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ และจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะยาว คือ จะมีการติดเชื้อในชุมชนไปเรื่อยๆ และพร้อมที่จะปะทุเป็นการระบาดหนักไปเป็นระยะ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพยายามอ้างว่าให้คิดซะว่าเป็นเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะอยู่กันไปนานแสนนาน
ฟังดูคงคล้อยตามโดยง่าย แต่โดยแท้จริงแล้ว โควิดนี้คงไม่น่ากังวล ถ้าหากเป็นเชื้อโรคที่เรามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันและมียาในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้หากติดตามกันอย่างสม่ำเสมอจะพบว่าวัคซีนและยาที่เรามีอยู่นั้น มีปัญหาทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษา สถานการณ์การระบาดรุนแรงและยาวนานที่เรากำลังประสบอยู่นี้ เกิดจากการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำไปในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถจัดการการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
ทั้งนี้ หากยิ่งปล่อยให้ปัญหายืดยาว ประชาชนในสังคมไม่สามารถอดทนยืนหยัดต่อสู้ได้ เพราะทรัพยากรร่อยหรอ หากถึงจุดนั้นจะเกิดความโกลาหลในสังคม และยากที่จุประกาศใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
@ แนะล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ 4 สัปดาห์
สำหรับการแก้ไขปัญหาในตอนนี้ จะทำอะไรได้บ้าง เพื่อบรรเทาปัญหานั้น รศ.นพ.ธีระ ระบุด้วยว่า จะต้องใช้ยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ข้อ ดังนี้
1. ชะลอการดำเนินนโยบายเปิดเกาะ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเปิดประเทศ
2. ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายเปิดเกาะและกลไกวิชาการเดิม เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบ และเปิดโอกาสให้ประเทศปรับแผนการต่อสู้โรคระบาดแนวใหม่
3. ประกาศนโยบายใช้วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) เป็นวัคซีนหลักของประเทศ และเร่งจัดซื้อจัดหาวัคซีน ทั้งนี้ระหว่างรอการจัดซื้อจัดหา อาจให้ดำเนินการใช้วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต (Protein Subunit Vaccine), วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ ที่มีไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 26 (Ad26 Vector Vaccine) และให้มีการใช้วัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
4. ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคมา 1.5 ล้านโดส เพื่อให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า โดยให้ครบทั้ง 2 โดส เหมือนฉีดใหม่
5. ให้ล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบ (Full National Lockdown) เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยก่อนประกาศ ต้องเตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคให้พร้อม โดยควรปูพรมให้บริการตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีต่างๆ ทุกพื้นที่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง มุ่งเป้าอย่างน้อย 150,000 ครั้งต่อวัน และวางมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้ครอบคลุม โดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การสื่อสาร พลังงาน ยา และการดูแลรักษา
“ทั้งนี้ หากล็อกดาวน์เพียงระดับจังหวัด หรือภูมิภาคโดยไม่ได้ทำทั้งประเทศ ผลลัพธ์จะเป็นเหมือนการกินยาบรรเทาอาการปวดหัวจากเชื้อราในสมอง เมื่อหมดฤทธิ์ยา ก็จะกำเริบอีก และหนักขึ้นจนคุกคามต่อชีวิตได้ อย่างไรก็ตามหลายต่อหลายประเทศก็ประสบกับสภาพดังกล่าว จนสุดท้ายก็มาจบที่ล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบในตอนที่ย่ำแย่มากในที่สุด” รศ.นพ.ธีระ ระบุ
สำหรับการคาดการณ์ระยะเวลาในการล็อกดาวน์นั้น รศ.นพ.ธีระ ระบุว่า ตามธรรมชาติของการระบาดระดับหมื่นต่อวัน การล็อกดาวน์นั้นจะใช้เวลานานตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึงหลายเดือนได้ แปรผันตามมาตรการคู่ขนานว่าจะเข้มข้นมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการล็อกดาวน์ คือ ระบบการตรวจคัดกรองโรคที่ต้องมีจุดบริการที่มากและทั่วถึง ทั้งในโรงพยาบาล สถานที่บริการนอกสถานที่ รถเคลื่อนที่ รวมถึงการเคาะประตูบ้านเพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งควรจะตรวจให้ได้อย่างน้อย 150,000 ครั้งต่อวัน เพราะหากยิ่งทำได้ช้า การล็อกดาวน์จะยิ่งยาวนาน และสูญเสียมากขึ้น
นอกจากนี้ควรเตรียมแผนรับมือไว้ด้วยว่า หลังการล็อกดาวน์จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นในที่อยู่อาศัย การสอนให้ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันทั้งในบ้าน คอนโด แฟลต อพาร์ตเมนท์ หมู่บ้าน หรือชุมชนได้มาตรการการดำรงชีวิต ประกอบด้วย การถามไถ่ความผิดปกติระหว่างสมาชิกที่อยู่ร่วมกัน, เน้นการปฏิบัติที่ควรทำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ, ส่งข่าวระหว่างกัน เพื่อให้ทราบว่าเป็นไปของสภาพแวดล้อมใกล้ตัวว่ามีใครติดเชื้อบ้างหรือไม่ และสามารถประเมินความเสี่ยงได้
“สิ่งที่ระบุมาทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญ ย่างก้าวที่ศบค.จะตัดสินใจเดินในช่วงเวลาถัดจากนี้ มีเดิมพันที่สูงมาก ถ้าคิดจะสู้ศึกนี้ ต้องเลือกวิธีที่สู้แล้วต้องชนะเท่านั้น ปิดประตูแพ้ ความเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ต้องเป็น 0 เพราะหากครั้งนี้ไม่สำเร็จ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจะมากเกินกว่าที่ประชาชนส่วนใหญ่จะยืนระยะต่อไปได้
ถ้าคุณพร้อม ผมพร้อม พวกเราพร้อม และมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง การทุบหม้อข้าวตีเมืองจันท์ก็คงพอมีหวังแต่หากยังไปในแนวเดิมดังที่ทำในครึ่งปีที่ผ่านมา ก็จะขอภาวนาและทำได้เพียงเอาใจช่วยให้ผิดไปจากที่คาดการณ์ ด้วยรักและห่วงใย”รศ.นพ.ธีระ ระบุ
(รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
และนายกสมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
@ รอดูผล‘ล็อกดาวน์’อีก14 วัน ผู้ติดเชื้อลด เท่ากับตอบโจทย์
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวด้วยว่า การล็อกดาวน์ครั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่ามาตรการครั้งนี้ตอบโจทย์ในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขยังมีความผันแปร ซึ่งจะต้องรอให้ครบ 14 วัน ก่อนว่าผลลัพธ์นั้นเป็นอย่างไร จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงหรือไม่ และการค้นหา คัดแยกผู้ป่วย ทำได้อย่างเต็มศักยภาพไหม
“เราจะต้องเอาตัวชี้วัดมาดูกันว่า จำนวนผู้ป่วยลดลงหรือไม่ สามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมหรือไม่ หากครบ 14 วันแล้วสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ไม่เป็นไปตามแผนอาจแปลว่ามาตรการที่เราทำอยู่นั้น น่าจะมีอะไรบางอย่างที่เราทำไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเราจะต้องยกระดับกันต่อไป” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
@ ล็อกดาวน์เข้มอย่างเดียวไม่พอ ต้องค้นหาผู้ป่วยจริงจังด้วย
ส่วนการคาดการณ์ว่าจะล็อกดาวน์ช่วงระยะเวลาเท่าใดนั้น ต้องดูที่ดัชนีชี้วัดว่าเราจะตั้งธงให้เหลือจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าใด ถึงจะสามารถประเมินได้ เพราะบางคนอาจอยากให้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเหลือ 2,000 ก่อน แล้วค่อยผ่อนปรนมาตรการคุมเข้ม อย่างไรก็ตามจะต้องมีตัวเลขที่เป็นธงก่อน ซึ่งตอนนี้ทาง ศบค.คงจะมีตัวเลขที่ประเมิน เพียงแต่ในตอนนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าเขาประเมินอย่างไร จะได้ผลหรือไม่
“ดังนั้นหากเราต้องเผชิญกับการระบาดหนัก เราควรเตรียมตัวว่า เมื่อล็อกดาวน์เราจะอยู่กันอย่างไร ทั้งนี้จะต้องดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กับการล็อกดาวน์ด้วย กล่าวคือ จะต้องค้นหาผู้ป่วยอย่างจริงจัง แต่หากเราไม่ปฏิบัติตาม ถึงจะรักษาผู้ป่วยแบบให้กักตัวที่บ้าน Home Isolation หรือแยกกักตัวในชุมชน Community Isolation จะป่วยการ คือ จะต้องทำไปพร้อมๆกัน เพราะการล็อกดาวน์นั้น แม้จะช่วยลดคนไข้รายใหม่ให้ช้าลง แต่คนที่อยู่ในระบบรักษาจะต้องจัดการให้เร็ว เพราะถ้าจัดการของตกค้างไม่ได้ ของตกค้างจะกลายเป็นของใหม่ขึ้นมา” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
(ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
@ วิธีที่ดีสุดสำหรับไทย คือ ‘ล็อกดาวน์’
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวด้วยว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดภายในประเทศ วิธีที่จะได้ผลที่สุด ได้ผลมากกว่าการรอวัคซีน หรือรอให้เกิดภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอีกราว 1 เดือน คือ การล็อกดาวน์ เพื่อตัดต้นน้ำหรือลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะต้องมีการประเมินอีกครั้งเมื่อครบ 14 วัน หลังจากประกาศยกระดับมาตรการอีกครั้ง
“ทั้งนี้หากสถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ แสดงว่าที่ผ่านมาเรายังทำไม่พอหรือแก้ไขปัญหายังไม่ตรงจุด ซึ่งเราจะต้องยกระดับมาตรการมากขึ้น ควบคู่ไปกับการมีมาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบางนี้ แต่หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จะต้องดูต่อไปอีกสักระยะหนึ่งว่าเราสามารถกดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ได้ต่ำมากเพียงใด หลังจากนั้นเราให้ค่อยๆ ผ่อนปรนมาตการ” ศ.นพ.มานพ กล่าว
@ เร่งฉีดวัคซีนสูตรผสม ตัวช่วยคุมการระบาด ยามขาดแคลน
การมีมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดภายในประเทศได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามการเร่งฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่ง ศ.นพ.มานพ กล่าวถึงการแก้ปัญหาด้วยการฉีดวัคซีนสูตรผสมกันด้วยว่า ตนเองเห็นด้วยกับการปรับสูตรวัคซีนใหม่ให้ประชาชนเป็นวัคซีนซิโนแวค ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานการวิจัยทางคลินิกที่แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนสูตรผสมดังกล่าวมีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลเหนือกว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แต่ข้อมูลการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Neutralizing Antibody หรือ NAB) พบว่ามีระดับสูงกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็มอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลยืนยันแล้วว่า ระดับภูมิคุ้มกัน (Nab level) สัมพันธ์กับประสิทธิภาพของวัคซีนจริง
โดยเหตุผลที่ไม่ควรฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เนื่องจาก 2 สาเหตุ ประกอบด้วย 1. ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดซิโนแวคครบทั้ง 2 เข็มนั้น ไม่เพียงพอที่จะป้องกันกับสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศ แต่การฉีดวัคซีนสูตรผสม แม้จะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นน้อยกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถส่งได้ตามแผนที่รัฐวางไว้ วิธีนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนสูตรผสมนั้นช่วยย่นระยะเวลาระหว่างการรอฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วย ซึ่งหมายความว่าประชาชนชาวไทยจะมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนครบโดสได้เร็วขึ้น เนื่องจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค แล้วตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้นจะใช้เวลาเพียง 3-4 สัปดาห์ ขณะที่การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม จะต้องทิ้งช่วงนานถึง 8 สัปดาห์
2. การรับทราบข้อมูลวัคซีนของประชาชนที่มีความชัดเจนมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการปฏิเสธการฉีดวัคซีนซิโนแวคใน จ.นนทบุรี เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่าไม่สามารถหาวัคซีนทางเลือกอย่างวัคซีนโมเดอร์มาฉีดเพิ่มเป็นบูสเตอร์โดสได้ ขณะที่ประชาชนถูกจำกัดให้ฉีดเพียง 2 เข็มก่อนเท่านั้น ดังนั้นเมื่อประชาชนทราบว่าตนเองจะได้รับซิโนแวค จึงเลื่อนนัด เพราะรู้ว่าหากเลือกซิโนแวคแล้ว จะไม่สามารถรับแอสตร้าเซนเนก้าได้ ดังนั้นการให้ฉีดวัคซีนสูตรผสมจึงเป็นทางออกที่ดีที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ควรเป็นมาตรการระยะสั้นในช่วงที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่เพียงพอ และวัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่างวัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอร์นายังไม่มาเท่านั้น การหยุดสั่งวัคซีนซิโนแวค และเปลี่ยนไปจัดหาวัคซีนชนิด mRNA หรือวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างโนวาแวกซ์ เป็นวัคซีนหลัก จะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่เหมาะสมมากกว่า นอกจากนั้นควรมีมาตรการรองรับสำหรับประชาชนที่ได้รับซิโนแวคให้ได้รับบูสเตอร์โดส และประชาชนที่ได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวทำให้ความต้องการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสูงขึ้น ในขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังคงไม่เพียงพอ” ศ.นพ.มานพ กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นนานาทัศนะและข้อเสนอแนะของบุคลากรการแพทย์ที่มีต่อมาตรการล็อกดาวน์ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับความปลอดภัย ทั้งในด้านสาธารณสุข รวมถึงการได้รับเยียวยาจากผลกระทบของโควิด แต่การล็อกดาวน์จะตอบโจทย์ในการควบคุมสถานการณ์ไทยหรือไม่ จะต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ด้วย คือ การค้นหาผู้ป่วยอย่างจริงจัง มาตรการเยียวยาสังคมอย่างครอบคลุม และการเร่งฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพ ท้ายที่สุดนี้ผลลัพธ์การล็อกดาวน์ในครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต้องรอติดตามกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage