“… แนวโน้มของการเกิดปัญหาท้องไม่พร้อมเพิ่มสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับสถานการณ์การระบาดของโควิด กล่าวคือ หากสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น ก็อาจพบหญิงท้องไม่พร้อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยหากคิดเฉลี่ยเป็นรายวัน จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด อยู่ที่ 83 คนต่อวัน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิดล่าสุด พุ่งขึ้นไปที่ 149 คนต่อวัน จะพบว่ามีผู้โทรมาปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 50%…”
…………………………………………..
หลังจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงสถิติผู้ขอรับคำปรึกษากรณีท้องไม่พร้อม ผ่านสายด่วน 1663 ที่ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ในช่วงเดือน พ.ค.2564 ที่ผ่านมา เพียงแค่ระยะเวลา 1 เดือน มีผู้ขอรับคำปรึกษาพุ่งสูงกว่า 4,461 ราย ซึ่งหากคิดเฉลี่ยเป็นรายวัน จะพบว่ามีผู้ขอรับคำปรึกษาสูงถึงวันละ 149 รายต่อวัน โดยเป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 26 ราย ซึ่งมากกว่าในช่วงเดือน ต.ค.2563 ที่พบเพียง 16 ราย
สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์ RSA Thai ที่ปรึกษาการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร และทางเลือกในการตั้งครรภ์ สำหรับหญิงท้องไม่พร้อมหรือไม่ได้มีการวางแผนครอบครัวมียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ในเดือนเดือน พ.ค.2564 สูงถึง 208,022 ครั้ง โดยหน้าที่มีการเข้าถึงสูงสุดคือ หน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ มีการเข้าชมถึง 43,665 ครั้ง และหลังจากปรึกษาทางเลือก มีหญิงท้องไม่พร้อม 70-90% ต้องการยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากปัจจัยทางสุขภาพ ครอบครัว เศรษฐกิจ หรือสังคม
สถิติการขอรับคำปรึกษาที่เพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้ จะผันแปรตามสถานการณ์โควิดที่รุนแรงขึ้นหรือไม่? มีข้อกังวลใจ และ จะมีแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมอย่างไรบ้าง? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และหัวหน้าศูนย์ปรึกษาเอดส์และท้องไม้พร้อม มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เราพบว่าผู้ที่โทรมาขอรับคำปรึกษาจากสายด่วน 1663 เพิ่มขึ้นมาก จากค่าเฉลี่ยช่วงก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ระหว่างเดือน ก.ย.2561 – ส.ค.2563 อยู่ที่เดือนละ 2,600 สาย พุ่งขึ้นมาในช่วงเดือน ต.ค.2563 – พ.ค.2564 ถึงเดือนละ 3,310 สาย รวมจำนวนทั้งหมดที่โทรเข้ามาประมาณ 26,000 คน เป็นผู้ขอรับคำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม ขณะเดียวกันในช่วงเดือน พ.ค.2564 ที่ผ่านมา เพียง 1 เดือนทะลุไปถึง 4,461 ราย สะท้อนให้เห็นว่าอาจมีผู้ประสบกับปัญหาท้องไม่พร้อมเพิ่มสูงขึ้น ผันแปรตามสถานการณ์ความที่รุนแรงขึ้นด้วย
“สถานการณ์โควิด เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเข้าไม่ถึงหน่วยบริการอนามัยเจริญพันธุ์ เพราะเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ทั้งพยาบาลและแพทย์จำนวนมาก ต่างต้องไปรับมือกับการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หรือด้วยมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐและมาตรการให้ลดการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ที่ทำให้หญิงหลายคนรู้สึกว่าการออกจากบ้านมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นการที่มีสถานการณ์โควิดเข้ามา จึงส่งผลต่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพมาก ดังนั้นการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” นายชาติวุฒิ กล่าว
ส่วนสาเหตุที่พบหญิงตั้งครรภ์กว่า 70-90% ที่มาขอรับคำปรึกษา ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์นั้น เนื่องจากประสบกับปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากผลกระทบของพิษโควิด ที่บางคนต้องถูกเลิกจ้าง ถูกลดเวลาทำงาน มีรายได้ลดลง ทำให้เขาเชื่อว่า เขาไม่สามารถเลี้ยงลูกในช่วงเวลาวิกฤตขนาดนี้ได้ จึงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมความต้องการยุติการตั้งครรภ์ถึงเพิ่มมากขึ้น
“ทิศทางในอนาคตของปัญหาการท้องไม่พร้อม น่ากังวลเหมือนกัน เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะยืดเยื้อไปจนถึงเมื่อไร เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มปฏิวัติเลย คือการพัฒนาระบบออนไลน์ ในการให้คำปรึกษา และการทำใบส่งต่อผู้ป่วยออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามจังหวัดรับบริการยุติการตั้งครรภ์ในสถานบริการที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสาพัฒนาเครือข่ายบริการที่ปลอดภัยเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศ หรือ RSA สมาชิกในภาคีเครือข่ายกำลังเตรียมกันอยู่” นายชาติวุฒิ กล่าว
(นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.)
@ พัฒนาระบบออนไลน์ ช่วยเหลือหญิงท้องไม่พร้อม ช่วงโควิด
หากมองวิกฤตให้เป็นโอกาส นายชาติวุฒิ กล่าวว่า การที่เกิดสถานการณ์โควิด ถือเป็นการปฏิวัติระบบสาธารณสุข จากอะไรที่ไม่เคยทำ ที่ต้องเร่งทำ ก็ได้ทำ โควิดเป็นตัวเร่งที่ทำให้บริการสุขภาพเข้าถึงคนได้มากขึ้น ผ่านทางระบบดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันเครือข่ายอาสา RSA กำลังเตรียมการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์ RSA Thai ได้ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อขอรับคำปรึกษา
สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับคำปรึกษา นายชาติวุฒิ กล่าวว่า สิ่งสำคัญอย่างแรก คือโทรหาสายด่วน 1663 หรือติดต่อเว็บไซต์ RSA Thai จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการคำปรึกษา หากตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เจ้าหน้าที่จะให้ข้อมูลแก่คุณแม่และส่งต่อไปยังสถานบริการภายในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้บ้าน และจะมีทีมคอยประสาน คอยโทรตรวจเช็ค หรือมีทีมภาคสนาม ให้การดูแลทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณแม่สามารถเข้าสู่บริการได้อย่างปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้หากตัดสินใจเลือกตั้งครรภ์ต่อ หน่วยงานของเราจะมีบริการให้คำแนะนำเป็นทางเลือก ตามข้อจำกัดของแต่ละบุคคล เช่น บ้านพักฉุกเฉิน เพื่อรอคลอดและพักฟื้นหลังคลอด สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนและอุปการะโดยภาคเอกชน หรือบริการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ
นายชาติวุฒิ กล่าวอีกว่า การมีบริการให้คำปรึกษาดังกล่าว ช่วยลดปัญหาหญิงท้องไม่พร้อมได้เยอะมาก โดยข้อมูลจาก แถลงการณ์ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย จากเครือข่ายอาสา RSA ณ วันที่ 3 ม.ค.2564 ระบุว่า เดิมการบาดเจ็บและตายของผู้หญิงไทยมีถึงปีละกว่า 3 หมื่นราย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เรื้อรังยาวนาน แต่ต่อมาค่อยๆ ลดลง โดยลดเหลือ 2 หมื่นรายในปี 2562 อันเป็นผลมาจากความร่วมมือการส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์อย่างปลอดภัยตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการช่วยชีวิตแม่นับหมื่นคนต่อปี
นอกจากนั้นยังช่วยลดการสูญเสียงบประมาณของประเทศ เนื่องจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยได้ส่งผลกระทบให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลปีละกว่า 150 ล้านบาย ซึ่งยังไม่รวมการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ไม่อาจประเมินค่าได้อีก
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ สสส. ต้องการทำในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพคุณแม่ เราจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อม การสร้างเครือข่าย ผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ทำให้เขารู้สึกดูแคลน ถูกทำร้ายทางจิตใจด้วยคำพูดต่างๆ สุดท้ายถ้าไม่มีบริการยุติการตั้งครรภ์ ไม่มีคุณหมอ คุณพยาบาล ก็จะเกิดกรณีที่ปรากฏในหน้าข่าวว่าพบศพทารกจากการทำแท้งเถื่อนที่ถูกซุกซ่อนไว้ในโกดังเก็บศพกว่า 2,002 ศพ ที่วัดแห่งหนึ่งในเขตบางคอแหลม ซึ่งผมมองว่าการทำแท้งเถื่อนจะส่งผลต่อสุขภาพคุณแม่ที่ต้องไปทำแท้งเอง บางคนเสียชีวิต บางคนตกเลือดจนเสียชีวิต หรือบางคนไม่สามารถมีลูกได้ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญมาก” นายชาติวุฒิ กล่าว
@ หัวใจการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม คือ ‘การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย’
สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาหญิงท้องไม่พร้อม นายชาติวุฒิ กล่าวว่า คือการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ประกอบด้วย
1.การเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อการป้องกันและการคุมกำเนิด เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่ใช่แค่ทางแก้ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมอย่างเดียว ยังรวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ด้วย เช่น HIV หรือ เอดส์ เป็นต้น
2.การมีทักษะในการจัดการกับสถานการณ์ที่มาเย้ายวน หรือมาทำให้เรารู้สึกว่าต้องการมีเพศสัมพันธ์ โดยจะต้องคำนึงถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างที่เรารู้จักควบคุมได้
นายชาติวุฒิ กล่าวว่า การให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก เนื่องจากในยุคปัจจุบันที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ และมีอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่มีความยั่วยวนอยู่รอบตัวเราได้ ต่อให้เราไม่พูดเรื่องเพศ หรือไม่สอนเรื่องเพศศึกษา เด็กๆ อาจไปเรียนรู้จากที่อื่น ดังนั้นการจะทำอย่างไรให้เขามีทักษะในการควบคุมหรือจัดการกับสิ่งยั่วยวนอย่างเท่าทันและปลอดภัย ตรงนี้ต่างหากคือหัวใจสำคัญ
“ถ้าถามว่าชี้โพรงให้กระรอกไหม เราเลยจุดนั้นมานานมากแล้ว เราเห็นจำนวนตัวเลขของคนท้องไม่พร้อมจำนวนมาก โดยในปี 2562 มีคุณแม่วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมและคลอดออกมาแล้วนับ 6 หมื่นราย ตรงนี้คือเลขที่เกิดขึ้นจริง เราจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ไม่รู้ แต่เราต้องยอมรับ และต้องรับมืออย่างเท่าทัน เพื่อดูแลให้คุณแม่กลุ่มนี้ได้มีสุขภาวะ สุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากพอในการดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นสิทธิเนื้อตัวร่างกายของคนคนนึง นี่คือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน” นายชาติวุฒิ กล่าว
(นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา หัวหน้าศูนย์ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663)
@ พิษโควิดทำ'หญิงท้องไม่พร้อม' พุ่งสูงขึ้น หลังล่าสุดพบเพิ่มกว่า 50%
ขณะที่ นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา หัวหน้าศูนย์ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวด้วยว่า สถิติของผู้มารับคำปรึกษาท้องไม่พร้อมผ่านสายด่วน 1663 ในช่วงการระบาดของโควิดในระลอกแรกนั้น ยังไม่มีตัวเลขของคนมารับคำปรึกษาเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดมากเท่าไร กล่าวคือตัวเลขจะอยู่ที่ 2,400 - 2,500 รายต่อเดือน แต่พอมาในช่วงการระบาดของโควิดระลอกสอง ในเดือน ธ.ค.2563 ตัวเลขพุ่งขึ้นไปที่ 3,600 ราย หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 1,000 ราย โดยมีรายละเอียดของข้อมูลดังนี้
เดือน ต.ค.2563 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 2,490 ราย
เดือน พ.ย.2563 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 2,588 ราย
เดือน ธ.ค.2563 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 3,600 ราย
เดือน ม.ค.2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 3,100 ราย
เดือน ก.พ.2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 3,300 ราย
เดือน มี.ค.2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 3,100 ราย
เดือน เม.ย.2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 3,600 ราย
เดือน พ.ค.2564 มีผู้ขอรับคำปรึกษาท้องไม่พร้อม 4,461 ราย
สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มของการเกิดปัญหาท้องไม่พร้อมเพิ่มสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับสถานการณ์การระบาดของโควิด กล่าวคือ หากสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น ก็อาจพบหญิงท้องไม่พร้อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยหากคิดเฉลี่ยเป็นรายวัน จากช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด อยู่ที่ 83 คนต่อวัน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิดล่าสุด พุ่งขึ้นไปที่ 149 คนต่อวัน จะพบว่ามีผู้โทรมาปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 50%
ส่วนสาเหตุที่เกิดปัญหาท้องไม่พร้อมในปัจจุบันนั้น พบปัญหาอยู่ที่หญิงอายุมากกว่า 20 ปีถึง 81% ส่วนคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี อยู่ที่ 19% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด โดยมีสาเหตุดังนี้
1.เมื่อมีสถานการณ์โควิด สถานบริการอนามัยเจริญพันธุ์ต้องปิด หรือจำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ ทำให้ผู้เลือกฉีดยาคุม หรือผู้ที่ต้องรับบริการต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือเข้าถึงได้ยาก
2.ขาดแคลนอุปกรณ์คุมกำเนิด เมื่อมีมาตรการกักตัว ทำให้หลายคนมีข้อจำกัดในการซื้ออุปกรณ์การตั้งครรภ์ เช่น บางคนต้องกักตัวครึ่งเดือน จะเดินทางไปซื้อยาคุมกำเนิด ก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนถุงยังชีพที่นำไปแจก ส่วนใหญ่จะเป็นอาหาร และน้ำ ไม่มีอุปกรณ์คุมกำเนิด ซึ่งผู้ถูกกักตัวเอง ก็ไม่กล้าร้องขอ
3.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อ หลายๆคนเกิดวิกฤติของรายได้ที่ลดลง หลายคู่รักต้องตกงานพร้อมกันกระทันหัน ทำให้หลายคนที่ตั้งใจวางแผนจะมีบุตร จึงต้องการยุติการตั้งครรภ์ เพราะเขารู้สึกถึงความไม่มั่นคง และไม่รู้ว่าโควิดจะยืดเยื้อไปอีกแค่ไหน จากท้องที่พร้อมก็กลายเป็นไม่พร้อม
@ แนะรัฐจัดหาอุปกรณ์คุมกำเนิด-เตรียมความพร้อมเรื่องเพศศึกษาให้เด็ก
นายสมวงศ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาท้องไม่พร้อม โดยปกติทั่วไป มักมีสาเหตุมาจาก ความสัมพันธ์ของคู่ไม่ค่อยดี เป็นอันดับ 1 อาทิ มีความสัมพันธ์คู่ไม่ราบรื่น หรือเลิกกันกลางทาง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด กลับกลายเป็นผู้ที่มาขอรับคำปรึกษา ล้วนมีปัญหาจาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจ นำมาเป็นอันดับ 1
“พอมีเรื่องโรคระบาด ผมว่าทั่วโลกก็เกิดปัญหานี้ อย่างญี่ปุ่นเองก็เกิด เพราะคนจะหันไปให้ความสนใจกับโรคระบาด จนลืมเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ หรือเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้ให้คำแนะนำว่าในช่วงโรคระบาด ยิ่งต้องเพิ่มการคุมกำเนิดให้มากขึ้น สำหรับคนที่ต้องการ” นายสมวงศ์ กล่าว
นอกจากนั้นไทยเราควรมีนโยบาย จัดทำระบบลงทะเบียนความต้องการอุปกรณ์คุมกำเนิด เพื่อให้รัฐรู้ว่าใครต้องการอุปกรณ์คุมกำเนิดอะไรบ้าง และช่วยจัดหาให้ เนื่องจากตอนนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในตอนนี้มีการปิดให้บริการชั่วคราว หรือจำกัดให้เคสสำคัญเข้ามารับการรักษาเท่านั้น ในช่วงนี้จึงต้องพยายามทำผ่านระบบออนไลน์
รวมถึง ควรสร้างเสริมการมีกิจกรรมรองรับให้เด็ก และเตรียมความพร้อมในเรื่องเพศศึกษา เนื่องจากปัจจุบัน การเรียนการสอนในหลายพื้นที่ไม่สามารถไปเรียนภายในโรงเรียนได้ตามปกติ เขาจะเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ แปลว่าเขาจะมีเวลามากขึ้น หากเราไม่มีกิจกรรมอะไรรองรับเขา เขาจะต้องหาอะไรทำด้วยตัวของเขาเอง เช่น ไปเจอเพื่อน หรือแฟนบ้าง ซึ่งเป็นวิถีปกติ หากเราไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องเพศศึกษา อาจเกิดปัญหาท้องไม่พร้อมตามมาได้
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นสถิติของหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เพิ่มสูงขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งอาจเพิ่มสูงมากขึ้นกว่านี้ หากสถานการณ์การระบาดของโควิดยังยืดเยื้อและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนให้ความสนใจ ให้การเตรียมความพร้อมด้านเพศศึกษาให้กับเด็ก รวมถึงสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผู้ที่ต้องการ การกระทำเหล่านี้ถือว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือไม่ มิอาจทราบได้ แต่การกระทำนี้อาจช่วยเหลือชีวิตแม่คนนึงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ภาพจาก: Freepik
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage