กทม.ตั้งโต๊ะแถลงการบริหาร ‘ตลาดนัดสวนจตุจักร’ โปร่งใส แจงยิบเก็บค่าเช่าแค่ 1,800 บ./เดือน ถูกกว่าสมัย รฟท. บริหาร โต้ข้อครหาค่าเช่าตกหล่น ชี้เข้าคลังทุกสิ้นเดือน เผยตอนนี้แผงค้าว่าง 2,028 แผง เตรียมจับมือบอร์ด Soft Power ปรับปรุงใหม่ในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ประธานกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าว การบริหารงานภายในตลาดนัดจตุจักร ในประเด็นความโปร่งใสในการบริหารจัดการ การยกเลิกสิทธิแผงค้าและค่าปรับ รวมถึงแนวทางการบริหารพื้นที่และการพัฒนาตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว
นายสุขสันต์ กล่าวว่า สำหรับค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักร ปัจจุบันตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2561 ให้เช่าแผงค้า 1,800 บาทต่อแผงต่อเดือน (ถูกกว่าผู้ค้าเช่าตรงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ช่วงปี 2554 – 2561 ที่คิดค่าเช่าอยู่ที่ 3,127 บาทต่อเดือน) โดยตลาดนัดจตุจักรแบ่งจัดเก็บค่าเช่าแผง 3 ประเภทคือ แผงค้าถาวร ค่าเช่า 1,800 บาทต่อเดือน แผงค้าเต็นท์เขียว ค่าเช่า 1,400 บาทต่อเดือน และแผงค้าต้นไม้ 900 บาทต่อเดือน โดย กทม. ต้องจ่ายให้ รฟท. 169 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้มีประกาศฯ งดจัดเก็บค่าเช่า ลดค่าเช่า เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าแผงค้าทุกสัญญา ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลง และในปีงบประมาณ 2566 – 2567 มีการจัดเก็บรายได้เพิ่ม อาทิ ค่าบริหารส่วนกลาง ค่าทำเล ค่าใช้พื้นที่ว่างต่าง ๆ
สุขสันต์ กิตติศุภกร ประธานกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร
@ค่าเช่าแผงเก็บเข้าฝ่ายการคลังทุกสิ้นเดือน
สำหรับกรณีการเก็บเงินค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักร ที่มีข้อสงสัยว่าตลาดนัดจตุจักรมีการรับเงินแล้วออกใบเสร็จรับเงินแผงค้าโครงการ 30 (เต็นท์เขียว) และลานเร่ บริเวณหอนาฬิกา แต่ไม่นำรายได้เข้าระบบตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ปีละหลายล้านบาทนั้น สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ขอชี้แจงว่า เมื่อตลาดนัดจตุจักรรับชำระเงินค่าเช่าแผงค้าแล้ว งานการคลัง ตลาดนัดจตุจักรจะออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ค้า และจะรวบรวมจำนวนเงินที่ได้รับชำระในแต่ละวันจัดทำข้อมูลรายได้ประจำวันเข้าระบบส่งให้กับฝ่ายการคลัง สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร โดยบันทึกบัญชีรวมเป็นหัวข้อ “รายได้จากแผงค้า” ซึ่งมีการแจกแจงเป็นแต่ละโครงการระบุตามรหัสบัญชีโครงการ เช่น โครงการ 1-29 โครงการ 30 โครงการ 31 (แผงค้าต้นไม้) ฯลฯ
ส่วนของลานเร่ บริเวณหอนาฬิกา จะบันทึกบัญชีรวมอยู่ในหัวข้อ “รายได้จากพื้นที่ว่าง” เมื่อถึงสิ้นเดือน ฝ่ายการคลัง สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จะบันทึกบัญชีรายได้ประจำเดือนเข้าระบบโดยระบุแต่เฉพาะหัวข้อ “รายได้จากแผงค้า” “รายได้จากพื้นที่ว่าง” เท่านั้น ซึ่งเมื่ออ่านโดยไม่ทราบรายละเอียดการบันทึกบัญชีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกันอยู่ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการทุจริตเงินรายได้ค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักรดังกล่าว ทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการบันทึกบัญชีระหว่าง 2 หน่วยงานสอบทานกันอยู่
@ไม่ต่อสัญญาแผงตลาดต้นไม้ ขีด 30 เม.ย.นี้ต้องออก
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่า กทม. ประกาศยกเลิกสิทธิแผงค้าโครงการ 30 (เต็นท์เขียว) ผู้ค้า 529 ราย บริเวณลานหอนาฬิกา โดยไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าอย่างเป็นธรรมและไม่มีช่องทางให้สามารถอุทธรณ์หรือชี้แจงได้นั้น กทม. ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีความสวยงาม เหลือความกว้างเป็นทางเดินเพียง 9.0 เมตร จากเดิม 19.00 เมตร และทำให้ร้านค้ากึ่งถาวรที่ตั้งอยู่ด้านริมของพื้นที่ถูกบดบัง ระบายอากาศไม่ดี มีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อสัญญาให้สิทธิจำหน่ายสินค้าใกล้จะสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กทม. จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้มีความสวยงาม เป็น Landmark ของนักท่องเที่ยวที่มาตลาดนัดจตุจักร ดึงดูดประชาชนให้เข้ามาสู่บริเวณลานหอนาฬิกาให้มากขึ้น โดยต้องสัญจรผ่านแผงค้าตามซอยแยกโครงการต่าง ๆ ที่ทำการค้าไม่ค่อยดี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จึงได้ออกประกาศ เรื่องให้ผู้ค้าโครงการที่ 1 - 29 และ 31 มาจัดทำสัญญา ซึ่งหมายถึงจะไม่ต่ออายุสัญญาให้แผงค้าโครงการ 30 แต่ภายหลังสำนักงานตลาดได้ขยายเวลาให้สิทธิโครงการ 30 สามารถค้าขายได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ก่อนที่จะคืนพื้นที่ให้กับสำนักงานตลาด เพื่อให้ผู้ค้าได้มีโอกาสเตรียมรื้อย้ายและบรรเทาความเดือดร้อน สำนักงานตลาดได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้ากลุ่มนี้ที่ไม่มีหนี้ค้างมาเลือกแผงค้าว่างที่มีอยู่ภายในตลาดนัดจตุจักรประมาณ 200 แผงค้า โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า 60,000 บาท แต่มีผู้ค้ามาเลือกเพียง 15 ราย โดยแผงค้าโครงการ 30 มีจำนวนทั้งหมด 529 แผงค้า ติดค้างค่าเช่าไม่ยอมชำระ 122 แผงค้า ซึ่งสำนักงานตลาดได้บอกเลิกสัญญาและจะส่งเรื่องฟ้องร้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้แจ้งแนวทางในการเลือกขอรับสิทธิเช่าแผงค้าอื่นได้ (ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า) จึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้น จึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดี
ในส่วนค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าล่าช้า ที่มีประเด็นกล่าวว่าอัตราสูงถึง 1,800% ต่อปี นั้น ในกระบวนการคิดค่าปรับของตลาดนัดจตุจักร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2566 คิดค่าปรับกรณีมีการชำระค่าเช่าล่าช้าในอัตราวันละ 5% ของค่าเช่ารายเดือน หรือเท่ากับวันละ 90 บาท หรือ 2,700 บาทต่อเดือน โดยยกเว้นให้ถึงเดือนธันวาคม 2564 อ้างอิงตามสัญญา และ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – มิถุนายน 2567 คิดอัตราค่าปรับใหม่เป็น 300 บาทต่อแผงต่อเดือน สำหรับผู้ค้าที่ต่อสัญญา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ยกเลิกสัญญาสำหรับผู้ที่ไม่ต่อสัญญาฉบับใหม่แต่ยังคงเปิดร้านและไม่ชำระค่าเช่า โดยจะคิดค่าผิดนัดชำระคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี ทั้งนี้ คู่สัญญาคือผู้ค้าได้รับทราบแล้วในการทำสัญญาเช่า และมีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าเช่าแผงค้าให้ตรงตามกำหนด มิใช่ปล่อยให้ค่าปรับเพิ่มขึ้นทุกวันโดยไม่สนใจมาชำระค่าเช่าเป็นระยะเวลานานจนยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูง
@ว่าง 2,028 แผง จับมือบอร์ด Soft Power รื้อใหม่-บริหารใหม่
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน นายสุขสันต์กล่าวว่า ตลาดนัดจตุจักรมีแผงค้าทั้งหมด 10,334 แผง มีแผงว่าง 2,028 แผง คิดเป็น 20% โดยเจ้าของแผงค้าเดิมเสียชีวิต อยู่ระหว่างโอนสิทธิ 62 ราย 107 แผง บอกเลิกสัญญาแล้วอยู่ระหว่างส่งฟ้องคดี 152 ราย 275 แผง มีหนังสือบอกเลิกสัญญา 650 ราย 1,353 แผง (ปัจจุบันมีผู้ค้ามาขอต่อสัญญาต่อเนื่อง) ทั้งนี้ ร้านค้าส่วนใหญ่ที่ขายดีเป็นร้านค้าที่อยู่ตามแนวถนนสายหลัก ส่วนร้านค้าด้านในบางโซนคนเดินไม่ถึงทำให้เกิดแผงว่าง
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้น กรุงเทพมหานครต้องการดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ค้า และหารายได้ให้กับตลาดเพิ่มเติม โดยเปิดประมูลให้เอกชนเช่าพื้นที่ทำตลาดนัดกลางคืน ตั้งแต่เวลา 19.00 – 24.00 น. ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่นับเป็นที่จอดรถ เนื่องจากตลาดก่อสร้างมาก่อนกฎหมายควบคุมอาคาร ในปัจจุบันทางเดินมีความคับแคบเพียง 9 เมตร ไม่สะดวกต่อการสัญจรของประชาชน สำนักงานตลาดจึงมีแนวทางที่จะเข้ามาดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ตามแผนเมื่อได้รับพื้นที่คืนจากผู้ค้า
ด้านการแก้ไขปัญหาระยะยาว กทม. ร่วมกับคณะกรรมการ Soft Power ศึกษาแนวทางการปรับปรุงพื้นที่ตลาดจตุจักรต่อไปในอนาคต โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การจัดวางแผงค้าในตลาดใหม่ให้ดีขึ้น ทั้งด้านการบริหารจัดการ และการดึงดูดนักท่องเที่ยว