สปสช.ยัน ปชช. ใช้สิทธิบัตรทองที่ร้านยา 'เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ' ได้ ช่วงรอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด พร้อมร่วมประชุมตามที่ รมว.สาธารณสุข เรียก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของแพทยสภาต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม กรณีการดำเนินการให้บริการ “เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ รับยาที่ร้านยาคุณภาพ” ซึ่งเป็นบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทนั้น ขอเรียนประชาชนว่า ณ วันนี้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ ยังคงเข้ารับบริการที่ร้านยาคุณภาพได้ จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอื่นออกมา
ทั้งนี้ ต้องเรียนว่าที่มาของการให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการฯ นี้ เกิดจากความร่วมมือ สปสช. และสภาเภสัชกรรม เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาเบื้องต้น ซึ่งสืบเนื่องจากเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบบัตรทองฯ ปี 2560 ที่ได้มีข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนร้านยาคุณภาพ เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิเข้ารับบริการ ประกอบกับผลสำรวจสถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน พบว่ามีประชาชนซื้อยากินเองในระหว่าง 1 เดือน เมื่อมีการเจ็บป่วย คิดเป็นร้อยละ 17.6
ข้อมูลข้างต้นนี้ยังสอดคล้องกับผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชน ปี 2561 ถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่ใช้สิทธิบัตรทอง คือการรอรับบริการนานสูงถึงร้อยละ 51.9 ประกอบกับก่อนหน้านี้ ปี 2555 มีข้อมูลผลสำรวจปัญหายาเหลือใช้ในบ้านผู้ป่วย โดยมีผู้ป่วยที่ครอบครองยาเกินจำเป็นที่มีมูลค่าความสูญเสียทางการคลังคิดเป็น 2,350 ล้านบาท นอกจากนี้เมื่อดูจำนวนร้านยาทั่วประเทศ ยังมีจำนวนถึงหลักหมื่นแห่ง ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีประกาศเกณฑ์ GPP (Good Pharmacy Practice) ที่กำหนดให้ปี 2563 ร้านขายยา (ขย.1) ทุกแห่งต้องมีเภสัชกรปฏิบัติงานประจำตลอดเวลาทำการ และผ่านการรับรอง GPP
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาคุณภาพ แม้ว่าดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มให้บริการ แต่ข้อเท็จจริงได้มีการนำร่องมาก่อนหน้านี้แล้วในระบบบบัตรทอง มาตั้งแต่ปี 2547 -2559 เป็นบริการในรูปแบบ “การจัดบริการร้านยาคุณภาพ” ประมาณ 300 แห่ง โดยให้บริการ เช่น คัดกรอง ความเสี่ยงโรคเรื้อรัง การให้ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การให้ความรู้ด้านการใช้ยาอย่าง สมเหตุผลเป็นต้น โดยพบว่าร้านยาคุณภาพนี้ ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านยาที่มีคุณภาพได้มากขึ้นด้วย
ต่อมาในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 มีมติเห็นชอบกำหนดร้านยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มดำเนินการในเขต 13 กรุงเทพมหานคร ในการให้บริการด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค
นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชาชนไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ ทำให้ต้องมีการกระจายการดูแลประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ทีมีอาการไม่รุนแรง โดยร้านยาก็เป็นหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้การดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการคัดกรองผู้ติดเชื้อ การจ่ายยารักษา และการติดตามอาการหลังได้รับยา เป็นต้น และเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การจัดบริการเจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาที่ร้านยานี้ด้วย
จากที่กล่าวมาแล้วนำมาสู่บริการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาคุณภาพ เริ่มต้นที่ 16 อาการ และขยายเป็น 32 อาการ ซึ่งการบริการต้องมีการติดตามอาการโดยเภสัชกร หากอาการไม่ดีขึ้นจะแนะนำให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาล โดยเป็นบริการทางเลือกให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ ขณะเดียวกันยังเพิ่มการเข้าถึงสิทธิบัตรทองโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิบัตรทองรับบริการที่โรงพยาบาลด้วย และที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนในการเข้ารับบริการ
“ขอเรียนว่า ปกติแล้วหากเจ็บป่วยเล็กน้อย ร้านยาก็สามารถขายยาให้ผู้ป่วยได้อยู่แล้ว ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ. สภาวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง สปสช. นำจุดเด่นนี้มาสร้างเครือข่ายบริการ โดยร้านยาที่เข้าร่วมจะต้องขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานบริการว่า ร้านขายยาต้องติดตามอาการประชาชนที่ไปรับบริการ หากไม่ดีขึ้นใน 3 วัน ต้องส่งต่อไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิต่อไป ดังนั้นทำให้ร้านยาในระบบ สปสช. ต่างจากร้านขายยาทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ลดภาระของแพทย์ในโรงพยาบาล และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้สามารถไปรับยาที่ร้านยาได้” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนวันที่ 13 พฤศจิกายน นี้ ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเรื่องนี้ ทาง สปสช. ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วม อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นประเด็นในส่วนของวิชาชีพ คงให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสิ้นสุด โดยระหว่างนี้ สปสช. ให้ประชาชนไปใช้สิทธิบัตรทองที่ร้านยาไปก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย