‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ อดีตรมว.ยุติธรรม สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แจง ออกกฎกระทรวงส่งตัวผู้ต้องขังนอกเรือนจำ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พักรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14
สำนักงานอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวชี้แจงกรณีคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้สิทธิและหน้าที่ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง รวมถึงเป็นการเอื้อประโยชน์ไม่ให้ นายทักษิณ ชินวัตร ต้องจำคุก ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน หรือไม่
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เดิมกฎกระทรวงเก่าผู้ต้องขังจะไปรักษาตัวด้านนอกเรือนจำเป็นอำนาจของผู้บัญชาการ (ผบ.) เรือนจำ แต่เมื่อกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ปี 60 ที่ออกโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เราออกกฎหมายรองใหม่ให้เป็นอำนาจของ ผบ.เรือนจำส่วนหนึ่ง เราก็ดำเนินการให้เป็นอำนาจของ ผบ.เรือนจำน้อยลง และให้มีผู้มารับผิดชอบมากขึ้น คือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดิมเป็นอำนาจของผบ.เรือนจำเท่านั้น เราทำละเอียดขึ้น มีผู้รับผิดชอบมากขึ้น คงเป็นสิ่งที่เข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วเอามาร้องเรียน
เมื่อถามว่า มีเหตุผลอะไรที่ต้องแก้กฎกระทรวงฯเพื่อให้อำนาจอธิบดีฯ ปลัดกระทรวงฯ และรัฐมนตรีฯ ในการอนุญาตให้ผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เราต้องการให้มีความละเอียดเพิ่มเติมและมีผู้มีรับผิดชอบมากขึ้น ถ้าหากเป็น ผบ.เรือนจำคนเดียว ถ้าให้ผู้ต้องขังไปอยู่นอกเรือนจำหลาย ๆ เดือน ผบ.เรือนจำต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียวคงไม่ดี จึงขอให้รับรู้ไปจนถึงฝ่ายการเมืองที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม หรือการตอบคำถามต่าง ๆ จะได้ละเอียดลออและระมัดระวังมากขึ้น
“สมมุติว่า นักโทษร้ายแรงหนี ผบ.เรือนจำรับผิดชอบคนเดียว หนักสุดก็ไล่ออก ก็คงไม่รอบคอบ ต้องให้รัฐมนตรีรับผิดชอบด้วยก็จะมีดีกว่าไม่ใช่หรือ เดิม ผบ.เรือนจำ มีอำนาจเทียบเท่ารัฐมนตรี เราจึงมาซอยเป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี ไม่ดีกว่าหรือ”นายสมศักดิ์กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่า ไม่ได้ร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อตัดอำนาจของฝ่ายตุลาการ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน
“การออกกฎหมายมี 3 อำนาจ อำนาจนิติบัญญัติ กฎหมายหลัก เป็นของสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายบริหารเอาตัวกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรออกให้มาใช้ มาทำเป็นเครื่องมือ โดยการออกกฎหมายรองมาให้ครม.และประกาศ เป็นระเบียบ เป็นเครื่องมือในการใช้ ถ้าเราทำอยู่ในกรอบของกฎหมายมันก็ชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของศาลก็เป็นตุลาการ เป็นคนพิจารณาว่าทำผิด ทำถูกอย่างไร อำนาจนี้เป็นอำนาจสามฝ่าย เป็นอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ใช้แทนในการบริหาร ทั้งสามอำนาจแยกบริหารจัดการ เป็นการถ่วงดุล เขาทำไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว ส่วนคนที่จะมาร้องเรียน แก้ขวยเขินก็ไม่ว่ากัน ขอกันกินมากกว่านี้ ไม่เป็นไร”นายสมศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า การออกกฎกระทรวงฯดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า คนเป็นรัฐมนตรีถ้าไม่ทำกฎหมายรอง ไม่ทำระเบียบ เป็นรัฐมนตรี่ที่ไม่ขยันขันแข็งในการทำงาน กฎหมายหรือกฎหมายรอง หรือระเบียบ เป็นเครื่องมือในการทำงานของประเทศ ของกระทรวง เขาถึงบอกว่า เจอรัฐมนตรีที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้มาก ๆ เขาก็เลยต้องออกกฎหมายที่ให้แสดงผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและมีอายุกฎหมายรองนั้นต้องออกภายใน 2 ปี ขยายได้ 1 ปี ตอนนี้กำลังเร่งกันอุลุต
“ถ้าคนเรียนหนังสือแล้วไปถามอย่างนั้น ไม่แกล้ง (โง่) ก็โง่ แล้วระยะเวลาของการออกฎหมาย ต้องถามว่าคนออกกฎหมายสมัยนั้นเป็นรัฐบาลของท่านนายกฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนออกมา แล้วเขาจะออกให้นายกฯทักษิณเหรอ”นายสมศักดิ์กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ขอให้ยืนยันอีกครั้งว่า เดิมการอนุญาตให้ผู้ต้องขังไปรักตัวนอกเรือนจำไม่ใช่อำนาจของศาล นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ฝ่ายบริหารเอากฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเขียนขึ้นมาให้แล้วมาใช้ในการบริหาร เขาก็บริหารไปตามกฎหมาย ส่วนจะเป็นอำนาจของใครไปดูในกฎหมายเอา
อ่านประกอบ :
เปิดกฎกระทรวงฯ ปี 63 ไขปมเตรียมการเอื้อ'ทักษิณ' นอนชั้น 14 ไม่ต้องติดคุก จริงหรือ?