ดีเอสไอ ตั้งโต๊ะ แถลง รับ ‘ดิไอคอน’ เป็น ‘คดีพิเศษ’ ฐานฟอกเงิน ชี้ ความเสียหายเกิน 300 ล้านบาท แจง อายัดทรัพย์ 3 กลุ่ม ส่งนาฬิกาหรู-กระเป๋าแบรนด์เนม พิสูจน์ของแท้-ของปลอม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รักษาราชการอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวคดีดิไอคอน กรุ๊ป ว่า สืบเนื่องจากดีเอสไอได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนเพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานในคดีดิไอคอนว่า เข้าลักษณะการกระทำความผิดตามประกาศ กคพ.ฉบับที่ 8 พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 กำหนดให้รับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่
“จากการสืบสวนข้อเท็จจริงขณะนี้ ดีเอสไอพบสาระสำคัญ ข้อที่ 1 มีการกระทำความผิดตามมูลฐานความผิดฉ้อโกงประชาชนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานฟอกเงิน มาตรา 3 วงเล็บ 3 ข้อสอง พบว่า มีทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดจากคดีนี้ (ดิไอคอน) มีมูลค่าเกินกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศ กคพ. ฉบับที่ 8 ฯ ได้กำหนดให้ดีเอสไอรับไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ” พ.ต.ต.ยุทธนากล่าว
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าได้มาในช่วงเวลากระทำความผิด ดังนี้
1. ที่ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 3 ไร่เศษ ราคาประเมินมูลค่าประมาณ 60,000,000 บาท ประกอบด้วย ที่ดินและอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จำนวน 8 แปลง เนื้อที่รวม 240 ตารางวา ในพื้นที่เขตบางเขน และที่ดินที่เป็นชื่อของนายวรัตน์พลฯ จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 282.20 ตารางวา ในพื้นที่เขตบางเขน บึงกุ่ม บางกะปิ ลาดพร้าว
2. ที่ดินในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 63 ไร่เศษ ราคาซื้อขายประมาณ 300,000,000 บาท
3. ทรัพย์สินที่ได้จากการที่คณะพนักงานสืบสวนได้ทำการตรวจค้นเป้าหมายห้องเช่าบริเวณถนนรามอินทรา ซอย 9 จากการตรวจค้นพบสิ่งของทรัพย์สินซึ่งจากข้อมูลการสืบสวนทราบว่า กลุ่มผู้บริหารบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด บางคน ได้นำมาเก็บซุกซ่อนไว้เพื่อไม่ให้ตรวจสอบ พบก่อนที่ศาลอาญาจะอนุมัติหมายจับ เช่น นาฬิกามีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง สร้อยที่มีลักษณะเป็นสีทอง พระเครื่องเลี่ยมสีทอง กระเป๋ามีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง และพยานหลักฐานอีกจำนวนหนึ่ง
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษเฉพาะคดีอาญาฐานฟอกเงินเท่านั้น ซึ่งเป็นการดำเนินคดีกับคนโอน หรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือได้มา ครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ทรัพย์นั้น โดยรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดฉ้อโกงประชาชน ส่วนความผิดอื่นยังอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน (ปปง.) จะรับดำเนินการในเรื่องของทรัพย์สิน ซึ่งทรัพย์สินที่ดีเอสไออายัดไว้จะแจ้งให้กับ ปปง.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
"สำหรับทรัพย์สินที่ดีเอสไออายัดไว้ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ทรัพย์สินที่ดิน จำนวน 3 แปลง ที่ลำลูกกา กลุ่มที่สอง ทรัพย์สินที่เป็นที่ตั้งของ ดิไอคอน รวมทั้งอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนกลุ่มที่ 3 ทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ที่รามอินทรา เช่น นาฬิกา และกระเป๋าแบรนด์เนม ซึ่งอยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่า ทรัพย์นั้นเป็นของแท้หรือของปลอม ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต" พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว