กสทช.จ่อฟันช่องทีวีดิจิทัลแพร่ประวัติ ชื่อ รูปภาพ ผู้ก่อเหตุกราดยิงในกลางสยามพารากอน อายุต่ำกว่า 18 ปี ออกหนังสือด่วนที่สุดแจ้งเตือนองค์กรวิชาชีพ -ผู้รับใบอนุญาต กำกับดูแลใช้ความระมัดระวังอย่างสูงนำเสนอข่าว ลด/ละเว้นดรามา ขยี้ข่าว สร้างการรับรู้ ลอกเลียนแบบ-เป็น Hero
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงค่ำวันที่ 3 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเตือน องค์กรวิชาชีพด้านกิจการโทรทัศน์ เพื่อขอให้กำกับดูแลการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงกรณีเหตุการณ์ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (อายุผู้ก่อเหตุ 14 ปี) ใช้อาวุธปืนยิงกราดในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และยังมีหนังสือแจ้งเตือนถึง ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ยิงในห้างสรรพสินค้าด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า กสทช. จะมีการลงโทษสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องหนึ่ง ที่มีการเผยแพร่ ประวัติ ชื่อจริง ชื่อเล่น รูปภาพ ผู้ก่อเหตุ ซึ่งแม้จะมีการปิดแถบดำทับบริเวณตาของผู้ก่อเหตุเอาไว้แล้วก็ตาม แต่ข้อมูลที่ปรากฏยังสามารถรับรู้เชื่อมโยงได้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร
ขณะที่ในหนังสือแจ้งเตือนทั้ง 2 ฉบับ มีการระบุเนื้อหาเหมือนกัน คือ ด้วยในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ปรากฏเหตุการณ์ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ใช้อาวุธปืน ยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสื่อมวลชนทั้งสื่อออนไลน์และ สื่อโทรทัศน์มีการรายงานข่าวและเกาะติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีการนำเสนอภาพผู้ก่อเหตุ การสัมภาษณ์ บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ การนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ก่อเหตุและครอบครัว รวมทั้งมีการวิเคราะห์ เพื่อหามูลเหตุจูงใจ เป็นต้น
โดยสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมีการนำคลิปและภาพจากสื่อสังคม ออนไลน์มานำเสนอ อันอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ เงื่อนไขการ ประกอบกิจการตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (10) และ (11) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จึงขอความร่วมมือให้ดำเนินการ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการนำเสนอรายละเอียดของความรุนแรง การจำลองภาพเหตุการณ์ความรุนแรง ที่เกินความจำเป็น และสะท้อนถึงรสนิยมที่ไม่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหารายการสู่สาธารณะ (Bad taste) อันอาจเป็นการตอกย้ำความรุนแรงและก่อให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ
2. หลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาหรือการนำเสนอข่าวใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึก หรืออาจเป็นการซ้ำเติมความสูญเสียหรือสร้างบาดแผล (Retraumatization) อันจะส่งผลกระทบต่อ ผู้ตกเป็นเหยื่อและครอบครัว
3. ลดหรือละเว้นการนำเสนอข่าวและเนื้อหาที่เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุในลักษณะของดรามา (Drama) ขยี้ข่าว หรือนำเสนอในลักษณะเป็นการสร้างการรับรู้อันก่อให้เกิดความประทับใจในการกระทำดังกล่าว หรือเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ และเรื่องราวของผู้ก่อเหตุอันอาจนำไปสู่การเลียนแบบ หรือลักษณะ ที่ทำให้เป็น Hero
4. ในกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้เยาว์ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต้อง ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดที่สุดและนำเสนอโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ เช่น สิทธิ เด็ก สิทธิส่วนบุคคล สิทธิของผู้เสียหายหรือผู้สูญเสีย เป็นต้น
5. ยึดถือหลักการจริยธรรมขั้นพื้นฐานในคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองในกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในการนำเสนอเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้
ขณะที่ในส่วนหนังสือแจ้งเตือนถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการระบุว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เงื่อนไข การอนุญาตประกอบกิจการ และ/หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป (ดูรายละเอียดในหนังสือ 2 ฉบับประกอบ)