เผยมติ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา 'วิเชียร จันทรโณทัย' อดีตผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ -พวก 2 ราย คดีทุจริตก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ในเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังไต่สวนเบื้องต้นไม่พบเจตนากระทำความผิด แต่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความละเอียดรอบคอบ ให้แจ้งประสานงานกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามอำนาจต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายวิเชียร จันทรโณทัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และพวก 2 ราย คือ นายสอาด สิงห์งาม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ บริษัท อาณาจักรสถาปัตย์ จำกัด ผู้รับจ้าง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 กรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 84 กรณีก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายบ้านเหมืองแบ่ง-บ้านทับเบิก หมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ในเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้
เนื่องจากผลการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย นายสอาด สิงห์งาม และบริษัท อาณาจักรสถาปัตย์ จำกัด มีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การกระทำของนายวิเชียร จันทรโณทัย และนายสอาด สิงห์งาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความละเอียดรอบคอบ ให้แจ้งประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
คดีนี้ ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายบ้านเหมืองแบ่ง - บ้านทับเบิก หมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ระยะทางยาว 3,150 เมตร กว้าง 6 เมตร หนา 0.15 เมตร ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัดเพชรบูรณ์ตามโครงการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวและการเกษตร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มอบอำนาจให้นายอำเภอหล่มเก่า เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งต่อมาได้มีการทำสัญญาจ้างบริษัท อาณาจักรสถาปัตย์ จำกัด เพื่อก่อสร้างถนนสายดังกล่าว
จากการตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างถนนในเขตพื้นที่ป่าไม้ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ตามมติคณะรัฐมนตรีโดยการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำป่าสักเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งการก่อสร้างนี้กรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ใดเข้าดำเนินการ จึงเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 และมาตรา 55
ขณะที่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพบว่า โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายบ้านเหมืองแบ่ง - บ้านทับเบิก หมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามสัญญาจ้างทั่วไป สัญญาเลขที่ 3/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 ได้กำหนดปริมาณงานระยะทางความยาว 3,150 เมตร กว้าง 6 เมตร หนา 0.15 เมตร ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศูนย์ป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายต่าง ๆ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 พบว่าพื้นที่ก่อสร้างถนนสายดังกล่าวเฉพาะที่ทำการก่อสร้างเสร็จไปแล้วระยะทาง 1,690 เมตร อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ตามมติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำป่าสัก เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ต่อมาเจ้าหน้าที่จากศูนย์ป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำการตรวจสอบพื้นที่อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 พบว่าเป็นการก่อสร้างถนนในเขตพื้นที่ป่าไม้และยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ คิดคำนวณพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ยึดถือ ครอบครองได้พื้นที่ประมาณ 8 - 3 - 55 ไร่ คิดค่าความเสียหายของรัฐในอัตราไร่ละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,333,125 บาท อันเป็นการร่วมกันกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 และมาตรา 55 ฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และฐานร่วมกันครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย
มีพยานบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าว ต่างก็ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันยืนยันว่าในช่วงก่อนและขณะดำเนินงานโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าวนี้ไม่เคยทราบมาก่อนว่าพื้นที่ก่อสร้างของโครงการอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อนจึงจะสามารถก่อสร้างถนนได้ ก่อนเริ่มโครงการจังหวัดเพชรบูรณ์จึงมีเพียงการทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ระยะทาง 680 เมตร จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เท่านั้น โดยไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายบ้านเหมืองแบ่ง - บ้านทับเบิก หมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ในกรณีดังกล่าว เฉพาะที่ในส่วนของถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ได้ทำการก่อสร้างเสร็จไปแล้วระยะทาง 1,690 เมตร เป็นการก่อสร้างในเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ตามระเบียบกฎหมาย
เมื่อเรื่องนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ก่อนดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กโครงการดังกล่าวนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอหล่มเก่า ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการและผู้รับผิดชอบโครงการ ไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ จึงถือได้ว่าผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างถนนโครงการดังกล่าว คือ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการ และมอบอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุให้กับนายอำเภอหล่มเก่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะนายอำเภอหล่มเก่า ซึ่งเป็นผู้เสนอโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างในฐานะผู้ว่าจ้าง ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างถนนโครงการดังกล่าว ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ที่บัญญัติไว้ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม และรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่" และมาตรา 55 ที่บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดร่วมกันครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น" ซึ่งในการดำเนินการโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าวนี้ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ คิดคำนวณพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ยึดถือ ครอบครองได้พื้นที่ประมาณ 8 - 3 - 55 ไร่ คิดค่าความเสียหายในอัตราไร่ละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,333,125 บาท
จึงถือว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้รับจ้างเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิดดังกล่าว
แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า ก่อนดำเนินการโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายบ้านเหมืองแบ่ง - บ้านทับเบิก หมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ถนนสายดังกล่าวนี้เป็นถนนลำลอง (ถนนดินหรือลูกรังเก่า) ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นถนนที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางในการสัญจรไปมาและการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร และนักท่องเที่ยวบางส่วนใช้ในการเดินทางท่องเที่ยวภูทับเบิก เป็นถนนที่สร้างขึ้นและปรับปรุงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 - 2509 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2525 ชาวเขาเผ่าม้งบ้านทับเบิกที่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ซึ่งมีตั้งฐานบัญชาการอยู่ที่ภูหินร่องกล้าได้เข้ามอบตัวกับทางราชการ จากนั้นอำเภอหล่มเก่าจึงได้สนับสนุนงบประมาณในการปรับเกรดบำรุงรักษาถนนสายนี้ให้ใช้งานได้เรื่อยมา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการเริ่มก่อสร้างถนนเสายใหม่ คือ สายบ้านเนิน - ภูหินร่องกล้า จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2538 และใช้เป็นเส้นทางสายหลักมาจนถึงปัจจุบัน แต่ชาวบ้านตำบลวังบาลรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภูทับเบิกบางส่วนก็ยังคงใช้เส้นทางสายบ้านเหมืองแบ่ง หมู่ที่ 14 - บ้านทับเบิก หมู่ที่ 16 อยู่ตลอดเรื่อยมา เพราะว่ามีระยะทางสั้นกว่าสายบ้านเนิน - ภูหินร่องกล้า
ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล จึงได้ดำเนินการปรับปรุงดูแลและก่อสร้างถนนสายดังกล่าวหลายครั้งให้เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำให้คงเหลือระยะทางที่ยังไม่ได้ก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กอีกประมาณ 2,900 เมตร ต่อมาได้มีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาค้อ ตามประกาศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ทำให้พื้นที่ถนนสายดังกล่าวบางส่วนตกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 อำเภอหล่มเก่าจึงได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้สามารถใช้ถนนสัญจรไปมาได้สะดวกและปลอดภัย ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อสร้างบนเส้นทางถนนเดิมที่เป็นถนนลำลอง
จากนั้นได้สำรวจตรวจสอบและจัดทำรายละเอียดโครงการเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจารณาอนุมัติ โดยได้ระบุว่าถนนตามโครงการดังกล่าวมีขนาดผิวจราจรกว้าง 4 - 6 เมตร หนา 0.15 เมตร ระยะทางรวม 3,150 เมตร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ 680 เมตร และอยู่ในเขตทางสาธารณะประโยชน์ 2,470 เมตร
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทราบว่าพื้นที่ก่อสร้างถนนบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จึงได้มีหนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ พช 0017.2/3567 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2557 ถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ เพื่อขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างถนนในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาค้อ พร้อมกับในเวลาต่อมาได้แจ้งให้อำเภอหล่มเก่าดำเนินการปรับปรุงแบบแปลนตามข้อเสนอของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยเร็ว แต่จะลงนามในสัญญาจ้างได้ก็ต่อเมื่อจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับความเห็นชอบอนุมัติให้ใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เสียก่อน โดยในเวลาต่อมาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 แล้วจึงอนุมัติให้จังหวัดเพชรบูรณ์ดำเนินการก่อสร้างถนนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2557 แจ้งให้นายอำเภอหล่มเก่า ทราบและเร่งรัดให้ดำเนินงานโครงการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมกับดำเนินการก่อหนี้ผูกพันหรือลงนามในสัญญาจ้าง ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงได้ทำสัญญาจ้างผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลจ้างให้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างถนนโครงการดังกล่าว
โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ชี้แจงว่าในขณะที่พิจารณาและอนุมัติโครงการดังกล่าวตามที่นายอำเภอหล่มเก่าเสนอนั้น ไม่เคยทราบมาก่อนว่าพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนอยู่ในเขตป่าไม้และต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อน เพราะขณะนั้นปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่าพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดระยะทาง 3,150 เมตร อยู่ในเขตทางสาธารณะ 2,470 เมตร และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ 680 เมตร
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งหากขณะนั้นทราบว่าพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนอยู่ในเขตป่าไม้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็คงทำเรื่องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ไปพร้อมกับกรณีขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ด้วยแล้ว นอกจากนี้จากการไต่สวนพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ต่างก็ให้ถ้อยคำยืนยันว่าก่อนการก่อสร้างนั้น ไม่เคยทราบมาก่อนว่าถนนสายดังกล่าวนี้อยู่ในเขตป่าไม้ ทราบแต่เพียงว่ามีบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อเท่านั้น และในระหว่างการก่อสร้างก็ไม่เคยได้รับการทักท้วงหรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าเป็นการก่อสร้างในเขตป่าไม้ จนกระทั่งเกือบ 2 ปี ต่อมา เจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้เขต 4 สาขาพิษณุโลก ได้เข้ามาทำการตรวจสอบพื้นที่การก่อสร้างถนน
จึงทำให้ได้ทราบว่าพื้นที่ก่อสร้างถนนบางส่วนอยู่ในเขตป่าไม้และยังไม่ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ประกอบกับเรื่องนี้จากการไต่สวนบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าไม้ที่ทำการก่อสร้างถนนในโครงการนี้ ต่างก็ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันว่า การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กโครงการดังกล่าวนี้เป็นการก่อสร้างตามแนวของถนนลำลองเดิมที่มีการใช้งานมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี เพื่อประโยชน์ของประชาชน และไม่คิดว่าจะมีหน่วยงานหรือบุคคลใดมีเจตนาที่จะยึดถือครอบครองเป็นของหน่วยงานหรือของตนแต่อย่างใด เพียงแต่ได้ทำการก่อสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายก่อนเท่านั้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการก่อสร้างถนนโครงการดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้นั้น ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เรื่องการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สรุปได้ดังนี้ (1) เห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป (2) ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 และ (3) การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทุกกรณีของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ได้รับการผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้พื้นที่ต่อไปได้ โดยให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ต่อไป ทั้งนี้ ให้พิจารณาเฉพาะส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตไว้แล้ว หรือยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งพื้นที่การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในโครงการดังกล่าวนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล และจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ป่าเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพร้อมกับโครงการอื่น ๆ รวม 728 แห่ง/โครงการ ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติดังกล่าวข้างต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมป่าไม้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียงแยกเห็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสอาด สิงห์งาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และบริษัท อาณาจักรสถาปัตย์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไ่ม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่การกระทำของนายวิเชียร จันทรโณทัย ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายสอาด สิงห์งาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความละเอียดรอบคอบ ให้แจ้งประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ฝ่ายเสียข้างน้อย จำนวน 1 เสียง เห็นว่า การกระทำของนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสอาด สิงห์งาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และบริษัท อาณาจักรสถาปัตย์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดทางอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยแล้วแต่กรณี ซึ่งยังมิได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เห็นควรให้คณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อน แล้วจัดทำสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นพร้อมเสนอความเห็นให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไป
ประธานฯ จึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 5 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ที่เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสอาด สิงห์งาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และบริษัท อาณาจักรสถาปัตย์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไ่ม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การกระทำของนายวิเชียร จันทรโณทัย ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายสอาด สิงห์งาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความละเอียดรอบคอบ ให้แจ้งประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
กล่าวสำหรับ นายวิเชียร จันทรโณทัย ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา