“..สิ่งที่เราเจอในทุกๆ ครั้งที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง คือ การทิ้งทวนที่เรียกว่าการตุนเสบียง ตุนกระสุน หาเงินเอาไว้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายของตัวเองเอาไว้ในหน่วยงานต่างๆ เพื่อในวันข้างหน้าจะได้มีโยชน์ช่วยเหลือกัน หรือว่ามีการปิดบังในสิ่งที่ทำไปแล้ว และการทิ้งทวนอีกอย่างหนึ่งที่น่าจับตา การใช้งบประมาณของหน่วยงานเพื่อสร้างผลงานทางการเมืองของตัวเอง..”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อเร็วๆ นี้ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา ถึงสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันของประเทศไทย พร้อมทั้งประเมินภาพรวมการทำงานของรัฐในช่วงที่ผ่านมา และสิ่งที่จะต้องจับตามองในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
สำนักข่าวอิศรา : ภาพรวมสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) : คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2557 วันต่อต้านคอร์รัปชัน มีข่าวดีที่เป็นความหวังของคนไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศว่า จะให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ นับว่าเป็นการประกาศครั้งที่ 1 ซึ่งในปีนั้นได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ของประเทศไทยดีขึ้นทันที 26 อันดับ จาก 102 ขึ้นมาเป็น 78ได้เห็นการออกฎหมายใหม่ๆ ที่ชัดเจน เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่นำมาสู่โครงการกิโยตีนกฎหมาย (Regulatory Guillotine) เพื่อต้องการลดกฎหมายที่เป็นภาระของประชาชน นักธุรกิจ และเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดการรีดไถ่ การรับสินบนของเจ้าหน้าของรัฐ รวมถึงการจัดตั้งศาลคอร์รัปชัน มีสำนักงานอัยการที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของคอร์รัปชัน และมีการเพิ่มงบประมาณเพิ่มอำนาจหน้าที่ ให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีมาตรการมากกว่า 150 มาตรการในช่วงต่อเนื่องในระยะนั้น
แต่ว่าหลังจากผ่านมาไม่กี่ปี สถานการณ์คอร์รัปชันไม่ได้ดีขึ้น อันดับ CPI ของไทยตกต่ำลงมาอยู่ที่อับดับ 104 ในปัจจุบัน โดยสาเหตุที่พบคือ ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการออกมาแล้วมากมาย แต่หน่วยงานต่างๆ ไม่ได้เอามาตรการเหล่านั้น ไปปฏิบัติจริงจัง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ในการลดขั้นตอนการให้บริการประชาชน ลดเอกสารลง ถูกเอาไปปฏิบัติน้อยมาก ในขณะเดียวกัน คอร์รัปชันในภาคการเมือง การกระทำของนักการเมือง ทั้งในส่วนท้องถิ่น ศูนย์กลาง หรือคนที่ใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจของรัฐบาล สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก
ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศว่า จะให้การต่อต้านยคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ เป็นครั้งที่ 2 แต่ถัดมาแค่ 1 เดือน เราได้เห็น พรรคพลังประชารัฐ พรรคใหญ่ของรัฐบาลเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องของบทลงโทษของการทุจริต
พฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้คอร์รัปชันในสายตาประชาชน ในสายตานักธุรกิจ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
สำนักข่าวอิศรา : ที่ผ่านมารัฐบาลมีผลงานด้านคอร์รัปชันใดบ้างที่สอบผ่านหรือน่าชื่นชม?
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) : ผลงานภาครัฐที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่ต้องยอมรับว่าน่าชื่นชม เช่น ความต่อเนื่องของรัฐบาลที่พยายามกำหนดนโยบายการปฎิรูประบบราชการ ในรูปแบบ e-Sevice แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ 1 ใน 5 ก็ตาม
ขณะเดียวกันการทำงานของ ป.ป.ช. มีความก้าวหน้ามาก มีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. สามารถชี้มูลความผิด คดีคอร์รัปชันได้สูงสุดเป็นประวัติกาล สะท้อนให้เห็นความทุ่มเทในการทำงานของคณะกรรมการฯ อีกทั้งมีการสื่อสารชี้แจงกับ ประชาชนมากขึ้น
นอกจากนี้ในภาคประชาชน มีความตื่นตัวสูงมาก หลายๆ เรื่องเป็นการตั้งคำถามของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย อีกทั้งได้เห็นความตื่นตัวของสื่อมวลชน ในช่วงที่ผ่านมา ทีวีแทบทุกช่อง สื่อแทบทุกสำนักมีคอลัมน์เกี่ยวกับคอร์รัปชัน
สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะมีอนาคตมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น คือ ทุกวันนี้ข้อมูลของภาครัฐที่มีอยู่จำนวนมากนั้น ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมืองน้อยมาก แต่ว่าวันนี้มีเทคโนโลยีดีๆ ที่สามารถดึงข้อมูลของภาครัฐมาใช้มากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ภาครัฐมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานทางด้าน Big Data มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากหน่วยงานยังทำงานไม่ประสานกัน ทำให้ข้อมูลยังกระจาย ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ถือว่าเป็นปนวโน้มในทิศทางที่ดี
สำนักข่าวอิศรา : ผลงานสอบตกของรัฐบาล?
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย): รัฐสอบตกเรื่องความโปร่งใสของภาครัฐ เรามักจะได้ยินเขาพูดตลอดเวลาว่าทุกอย่างโปร่งใส ถูกต้อง มีธรรมาภิบาล แต่การเปิดเผยข้อมูลมันไม่มี ไม่เพียงพอ และมีอภิสิทธิ์การใช้อำนาจแทรกอยู่ตลอดเวลา
เรื่องการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก แต่ทั้งนี้ เราได้เห็นตัวอย่างดีๆ เกิดขึ้น ในเว็บไซต์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ มีการเปิดเผยข้อมูลที่เต็มที่และมีประโยชน์มาก ประชาชนสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งเยอะมาก และอยู่ในความสนใจของประชาชน ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างต้นแบบ ที่แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐสามารถเปิดเผยข้อมูลได้จริง และจะเป็นประโยชน์ในงานวิจัยในอนาคต โดยจะเห็นได้ว่าคอร์รัปชันเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแก้ปัญหาโควิดที่เผยแพร่ออกมานั้น มีปัญหาร้องเรียนน้อยมาก
ขณะเดียวกัน เราได้เห็นความพยายามของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการใช้งบจัดซื้อจัดจ้างในช่วงหลัง มีการเปิดเผยมากขึ้น ทำให้องค์กรฯ สามารถนำเครื่องมือ ACT AI ไปตรวจสอบและนำมาเผยแพร่ได้
สำนักข่าวอิศรา : มีผลงานใดบ้างที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษ?
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย): มีคำถามว่าแล้วคอร์รัปชันจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรบ้าง จากนี้เราจะต้องจับตากันเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าช่วงหลังมานี้ มีข่าวคอร์รัปชันขนาดใหญ่เยอะมาก ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีเมกะ โปรเจกหลายอย่าง เราได้เห็นคำแถลงของประธาน ป.ป.ช. ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด แต่พวกคนโกงมันไม่ได้ลดราวาศอกเลย ไม่ได้สนใจเลยว่าใครจะเป็น ใครจะตาย
มีข้อมูลที่หน้าสนใจ ในปี 2564 การจัดซื้อของภาครัฐเพิ่มมากเป็นประวัติการ โดยจากเดิมเราเคยใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างอยู่ที่ปีละ 1.1 ล้านล้านบาท แต่ในปีที่ผ่านมา ใช้ไป 1.5 ล้านล้านบาท เราเคยซื้อของปีละ 3 ล้านรายการ แต่ในปีที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 5 ล้านรายการ
นอกจากนี้ เรายังเป็นห่วง การตบทรัพย์ในรัฐสภายังคงมีอยู่ เรายังคงได้เห็นการใช้อำนาจรัฐของบางกระทรวง รัฐวิสาหกิจ ในการไปเยียวยาเอกชนที่ผิดสังเกตุโดยอ้างสถานการณ์โควิด ยกตัวอย่าง กรณีของ Duty Fee ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ผู้รับสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐไม่น่าไว้วางใจ
โดยในช่วงนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คือ การใช้เงินของรัฐวิสาหกิจที่จะมีการลงทุนหลายโครงการ และหลายโครงการอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองใหญ่
เมื่อถามว่ากระทรวงหรือหน่วยงานไหนที่ต้องจับตาบ้าง คำตอบ คือ กระทรวงที่มีงบประมาณการลงทุนจำนวนมาก คือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คือ กระทรวงเกษตร กระทรวงที่มีการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีที่ทำให้ยากต่อการติดตามการทุจรติ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงที่เราควรจับตาให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กระทรวงยุติธรรม งานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย และเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ การศึกษา โดยหน่วยงานที่ต้องให้ความสนใจคือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้เกี่ยวข้องกับอนาคตและการศึกษาของเยาวชน แต่ก็ยังพบเห็นปัญหาคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่องในการจัดซื้อหรือการแต่งตั้งโยกย้าย
นอกจากนี้ หน่วยงานที่น่าติดตามมาก มีงบประมาณเยอะ และการลงทุนมักจะใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างอยู่บ่อยครั้ง คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยิ่งใกล้ช่วงที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการ กทม. ก็ไม่รู้ว่าจะมีการทิ้งทวน การสร้างเครือข่าย วางพรรคพวกเอาไว้มากน้อยแค่ไหน
ส่วนเรื่องการลดโทษอภัยโทษผู้ถูกคุมขังจากคดีคอร์รัปชัน มี 3 มิติหลัก ที่ต้องพูดคุยทำความเข้าใจให้ชัดเจน ประกอบด้วย หลักเกณฑ์ กติกา การลดโทษมีความเหมาะสมหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาการมาอย่างไร มีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อสอบสวนเรื่องนี้แล้ว
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เรื่อง ที่เราได้ยินข่าวกันมานานแล้ว และควรที่จะนำมาสังคยานาในรอบนี้ เรื่องที่ 1 มีการทุจรติในการพิจารณาจัดชั้นนักโทษหรือไม่ และเรื่องที่ 2 คนที่เป็นนักโทษ ผู้ต้องขังแล้ว ที่เรียกันว่านักโทษ VIP หรือนักโทษแบรนด์เนมได้รับการปฏิบัติอย่างอภิสิทธิ์จริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นในขณะที่ประชาชนกำลังตื่นตัว ควรนำมาพูดคุยถกเถียงกันให้ชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา : ในช่วงโค้งปีสุดท้ายของรัฐบาล ก่อนมราจะมีการเลือกตั้ง มีประเด็นใดบ้างที่ควรจะจับตาเป็นพิเศษ?
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย): สิ่งที่เราเจอในทุกๆ ครั้งที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง คือ การทิ้งทวนที่เรียกว่าการตุนเสบียง ตุนกระสุน หาเงินเอาไว้ และอีกอย่างหนึ่ง คือ การสร้างเครือข่ายของตัวเองเอาไว้ในหน่วยงานต่างๆ เพื่อในวันข้างหน้าจะได้มีโยชน์ช่วยเหลือกัน หรือว่ามีการปิดบังในสิ่งที่ทำไปแล้ว และการทิ้งทวนอีกอย่างหนึ่งที่น่าจับตา การใช้งบประมาณของหน่วยงานเพื่อสร้างผลงานทางการเมืองของตัวเอง ในแง่ลบ
แต่เชื่อว่าคนไทยไม่อยากเห็น องค์การต่อต้านคอร์รัปชันฯ ก็ไม่อยากเห็น สำหรับสิ่งที่คนไทยทุกคนอยากเห็น คือ นักการเมือง ข้าราชการทิ้งทวนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เช่น นโยบายอะไรที่ค้างคาอยู่ การผลักดันกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อคอร์รัปชัน และรัฐบาลนนี้ ทำไม่ได้เลย แม้ว่ากฎหมายเหล่านี้จะอยู่ในแผนปฎิรูปก็ตาม
“คอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ปัจจุบันเรื่องราวต่างๆมักจะถูกปิดบัง ไม่โปร่งใส และมีวาทกรรมข้ออ้าง คำอธิบายต่างๆ มากมากย ทั้งจริงและไม่จริง ทำให้เกิดความสับสน ไม่เข้าใจ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองเป็นอคติที่สำคัญอย่างหนึ่งทำให้คนมองคอร์รัปชันอย่างผิดๆ ไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการเอาชนะคอร์รัปชันเพื่อประโยชน์ของคนไทย เราจะต้องมองไปในอนาคต และหาทางแก้ไขร่วมกัน ทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น ต้องอาศยความร่วมมือของคนไทยทุกคนและทุกภาคส่วนในการเอาชนะคอร์รัปชันได้” นายมานะ กล่าวทิ้งท้าย