สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “หัวอกครู ผู้ปกครอง นักเรียน” กับการเรียนออนไลน์” พบว่า ประชาชนมองว่ายัง ไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ ร้อยละ 51.35 และการศึกษาไทยก็ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ ร้อยละ 63.30
........................
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “หัวอกครู ผู้ปกครอง นักเรียน” กับการเรียนออนไลน์” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,749 คน สำรวจวันที่ 14 - 17 มิถุนายน 2564 พบว่า ประชาชนมองว่ายัง ไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ ร้อยละ 51.35 และการศึกษาไทยก็ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ ร้อยละ 63.30 สิ่งที่ครูกังวล คือ อุปกรณ์ไม่พร้อม อินเทอร์เน็ตช้า ร้อยละ 77.18 ผู้ปกครองกังวลว่าบุตรหลานจะไม่มีสมาธิ ขาดความกระตือรือร้น ร้อยละ 66.16 ตัวนักเรียนกังวลว่าจะเรียนไม่เข้าใจ ร้อยละ 74.25 และประชาชนมองว่าการเรียนออนไลน์นั้นผู้เรียนไม่มีสมาธิเท่าที่ควร ร้อยละ 65.80 โดยสิ่งที่อยากให้ภาครัฐ/สถานศึกษาช่วยเหลือ คือ อยากให้สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับเรียนออนไลน์ ร้อยละ 62.22 ทั้งนี้มองว่าการเรียนออนไลน์จะกระทบต่อการศึกษาระดับชั้นปฐมวัยมากที่สุด ร้อยละ 35.57 และจะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยแย่ลง ร้อยละ 68.52
เมื่อการเรียนออนไลน์ต้องมาเป็นทางเลือกหลัก แต่ยังมีสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่มีความพร้อม จึงทำให้การเรียนออนไลน์เพื่อป้องกันโควิด-19 ครั้งนี้ กลับกลายเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ภาครัฐจึงควรสนับสนุนงบประมาณหรืออุปกรณ์ ช่วยเหลือทั้งกลุ่มครู ผู้ปกครอง และนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษาไป
การเรียนออนไลน์ในชีวิตวิถีใหม่นี้ ควรเป็นโอกาสและความท้าทายใม่ใช่อุปสรรคของการเรียนรู้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องปรับ Digital Mindset ให้รู้คิด รู้ใช้ เข้าใจ เปิดใจ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเท่าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาล-สถานศึกษา-ครู-ผู้ปกครอง ต้องร่วมมือสร้างความเชื่อมั่นและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ทั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทั่วถึงและเท่าเทียม ครูต้องปรับและเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้บนพื้นฐานของความเข้าใจพัฒนาการและพฤติกรรมของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย เลือกใช้รูปแบบการเรียนรู้ สื่อ และกิจกรรมที่เหมาะสมและหลากหลาย ปรับรูปแบบเนื้อหาบทเรียนให้สั้นกระชับ ปรับการบ้านหรืองานเป็นงานย่อยๆ (Micro Content) ให้เข้าใจและเข้าถึงบทเรียนได้ง่าย สร้างแรงกระตุ้นด้วย Edutainment เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกบทเรียนได้ด้วยตัวเอง ในแบบ “At their own pace” หากผู้เรียนยังเล็กอยู่ หรือมีสมาธิสั้นเกินกว่าจะเรียนออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ผู้ปกครองควรให้การสนับสนุนและติดตามการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง