รมว.ดีอีเอส เผยศาลมีคำสั่งปิด 8 บัญชีเฟซบุ๊ก ระบุควรดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมทำความเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติสำหรับการระงับหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์
--------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ให้บริการมารับทราบคำสั่งศาลที่มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ในบัญชีผู้ใช้บริการในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และรหัสประจำตัวผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก (Facebook ID) และข้อมูลหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP ADDRESS) ที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เชื่อมโยงบัญชีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก จำนวน 8 บัญชี ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย
1.Pavin Chachavalpongpun 2.Andrew MacGregor Marshall 3.รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง 4.Suda Rangkupan 5.ป้าหนิง DK 6.Aum Neko 7.KTUK – คนไทยยูเค และ 8.Pixel HELPER
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับบัญชีสำคัญทั้ง 8 บัญชี เป็นบัญชีเฟซบุ๊กเป็นหลัก โดยคำสั่งศาลในครั้งนี้ ครอบคลุมไปถึงว่า แม้จะปิดและเปิดใหม่ในเนื้อหาเดียวกันหรือโดยบุคคลเดียวกัน ก็ต้องปิดตามคำสั่งนี้ ส่วนผู้กระทำความผิดแม้ว่าจะอยู่ต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันทำงานถือเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร อีกทั้ง กรณีที่ผู้อื่นนำคอนเทนท์ที่ศาลมีคำสั่งปิด ไปโพสต์หรือแชร์ต่อ ก็จะมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส ยังได้ทำความเข้าใจกับผู้ให้บริการเกี่ยวกับประกาศกระทรวงดีอีเอส เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงดีอีเอส เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูล คอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) (3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามคำสั่งศาลโดยรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีเหตุล่าช้าก็ต้องดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง
รมว.ดีอีเอส กล่าวย้ำว่า ในการโพสต์ข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่กระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงฯ ให้ความสำคัญและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด โดยนอกเหนือจากเจ้าของบัญชีโซเชียลซึ่งเป็นผู้เผยแพร่โดยการโพสต์ แชร์ข้อมูลเท็จ และเนื้อหาที่กระทบความมั่นคงแล้ว กรณีที่ศาลมีคำสั่งปิดกั้นข้อมูลเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลที่กระทบความมั่นคง แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่ให้ความร่วมมือ เท่ากับเป็นการรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการปัญหาข่าวปลอม และตระหนักว่าขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายต้องใช้เวลา และตัวผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แพลฟตอร์มล่าช้า ต้องมีการประสานให้ดำเนินการให้เร็ว อีกทั้งมีข้อปัญหาทางเทคนิค ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ก ที่ไม่ปิดกั้นให้ครบทุกยูอาร์แอลตามที่มีคำสั่งศาล เป็นต้น ดังนั้น จึงเตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินการ และศึกษาในการแก้ไขกฎหมายควบคู่กัน เพื่อให้ปัญหาเฟคนิวส์สร้างความเสียหายหมดไปโดยเร็วที่สุด
“หากไม่ปฏิบัติตามจะเข้าข่ายการกระทำความผิด ตามมาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด ตามมาตรา 14 ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” นายชัยวุฒิกล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage