เครือข่ายภาคประชาสังคม 18 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 'นายกฯ' ยุติการเจรจาข้อตกลง CPTPP หลังทีมงาน 'ดอน' เร่งจัดทำข้อเสนอให้ไทยเข้าร่วมภาคี
....................
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 17 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติความพยายามในการผลักดันให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยระบุมีเนื้อหาว่า การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาประเทศและยังผูกพันหลายชั่วอายุคน จึงไม่สามารถคิดอย่างผิวเผินและตัดสินใจอย่างผลีผลามได้ ควรต้องคำนึงถึงหลักการต่างๆที่สำคัญ คือ
1.หลักธรรมาภิบาลสำคัญที่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงสาระสำคัญของหนังสือสัญญานั้นต่อรัฐสภาด้วยการจัดทำกรอบการเจรจา เพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างความโปร่งใส สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และเป็นแนวทางป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหนังสือสัญญา และยังเป็นอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหารเมื่อไปเจรจา
2.หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้รัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนช่วยตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ให้เนื้อหาการเจรจาเป็นไปตามที่รับปากไว้กับสาธารณชนในประเด็นที่อ่อนไหว
3.การเยียวยาที่รวดเร็วเหมาะสมเป็นธรรมโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น มิใช่แค่เพียงการเยียวยาตามความจำเป็นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าทีมงานของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขาของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่กำลังจัดทำข้อเสนอเพื่อพิจารณาในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นอกจากจะไม่ได้ดำเนินการในหลักการที่ว่า ยังมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจหลายประการ เช่น
1.พยายามกดดันหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ยอมละทิ้งข้อสงวนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นั่นคือ สิทธิในการกำกับดูแลของรัฐ (Right to regulate) สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุขออกจากการฟ้องรัฐด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) โดยเฉพาะ กรณีการใช้สิทธิบัตรเหนือสิทธิบัตรยาเพื่อสาธารณประโยชน์ (CL for public use)
2.ไม่มีการยืนยันในหลักการที่ประเทศไทยจะต้องไม่รับข้อเจรจาที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญา UPOV1991 แต่ควรมีท่าทีเจรจาเพียงจัดให้มีกฎหมายที่ใกล้เคียง โดยมีข้อบทที่เหมาะสมกับบริบทวิถีชีวิตและสังคมเกษตรกรรมไทย ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯเสนอ ทั้งที่เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่เป็นหัวใจของรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
3.ทีมงานของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี พยายามที่จะนัดพบภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบความพยายามเข้าร่วมภาคี CPTPP เป็นรายบุคคล ผิดกับการปฏิบัติกับภาคเอกชนที่หารือเป็นสมาคมหรือคณะ นอกจากนี้ รองนายกฯดอนยังไปอ้างกับหน่วยราชการว่า ได้นัดหารือกับภาคประชาสังคมแล้ว ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง
ดังนั้น จากการปฏิบัติที่ไร้ซึ่งหลักการธรรมาภิบาลในการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พฤติกรรมที่ละทิ้งหัวใจสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการเจรจา CPTPP ผนวกกับความพยายามผลักดันวาระดังกล่าวเข้าสู่การอนุมัติของคณะรัฐมนตรีอย่างไม่โปร่งใสและไม่น่าไว้วางใจว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเจรจาไม่ให้ประเทศเสียประโยชน์จริง กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) พร้อมด้วยองค์กรตามรายนามด้านล่างนี้ ขอประกาศไม่ร่วมหารือกับนายดอนและคณะ ไม่ว่าจะเชิญในนามองค์กรหรือรายบุคคลก็ตาม
"ด้วยหลักฐานและงานวิจัยเชิงประจักษ์ว่า ความตกลง CPTPP จะมีผลกระทบรุนแรงต่อประชาชน ต่อเกษตรกร ต่อฐานทรัพยากรชีวภาพ ต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่อนโยบายสาธารณะที่คุ้มครองประชาชน รวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่อผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น พวกเรากอปรด้วยองค์กรในภาคประชาสังคม ขอให้นายกรัฐมนตรียุติความพยายามเข้าร่วมการเจรจานี้" แถลงการณ์ระบุ
สำหรับเครือข่ายภาคประชาสังคม 18 องค์กร ได้แก่ 1.กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) 2.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 3.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 5.เครือข่ายผู้ติดเชือเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 6.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย 7.มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) 8.มูลนิธิบูรณะนิเวศน์ 9.มูลนิธิสุขภาพไทย 10.มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา 11.มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
12.กลุ่มศึกษาปัญหายา 13.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 14.เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ 15.ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาฯ 16.ศูนย์วิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาฯ 17.Focus on the Global South และ 18.กรีนพีซ ประเทศไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/