‘การบินไทย’ ยันการแต่งตั้ง ‘ผู้บริหารแผน’ เป็นอำนาจเจ้าหนี้ ขณะที่ 2 สหภาพฯเข้ายื่นหนังสือถึง 'บิ๊กตู่' ขอรัฐบาลหนุนแผนฟื้นฟูกิจการฯ ด้าน สร.กบท.สพ. เสนอชื่อ ‘พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เป็นผู้บริหารแผนเพิ่ม ด้าน 'ชสอ.' ร้องรัฐปล่อยกู้ 2.5 หมื่นล.
................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. สหภาพแรงงานของพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 2 สหภาพฯ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานการบินไทย (สร.กบท.) ขอให้รัฐบาลสนับสนุนแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลพิจารณาเลือกแนวทางให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาทให้บริษัท การบินไทย 2.ขอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางนำบริษัท การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อคงสิทธิต่างๆในฐานะสายการบินแห่งชาติ และ3.ขอให้รัฐบาลยกเลิกแนวคิดตั้งสายการบินแห่งชาติใหม่แทนการบินไทย
ขณะที่สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) ยื่นข้อเสนอถึงนายกฯ โดยเสนอชื่อนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งพนักงานบริษัท การบินไทย ร่วมกันลงชื่อสนับสนุน 2,000 รายชื่อ ให้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และจะทำให้บริษัท การบินไทย กลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศต่อไป
(สร.กบท.สพ.ยื่นหนังสือถึงนายกฯเสนอชื่อพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย เพิ่มเติม)
วันเดียวกัน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ โดยระบุว่า ตามที่ผู้ทำแผนของบริษัทฯ ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ และได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย โดยในเบื้องต้นคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจของบริษัทฯ ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนต่อไป
ในลำดับถัดไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 12 พ.ค.2564 ซึ่งหากจะมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมผู้บริหารแผน ก็จะต้องทำตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการก่อนการประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม และการลงมติพิจารณาเป็นอำนาจของเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิลงมติในกระบวนการฟื้นฟูกิจการเท่านั้น บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ ไม่มีอำนาจขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หรือเสนอแก้ไขเพิ่มเติมผู้บริหารแผน ซึ่งไม่สอดคล้องกับกระบวนการตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ
“ผู้ทำแผนได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการอย่างรอบคอบรัดกุมภายใต้กรอบกฎหมายทุกประการ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย และประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เป็นสำคัญ ภายหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาล รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง บริษัท การบินไทยฯ พร้อมที่จะกลับมาให้บริการด้านการบินอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป” บริษัท การบินไทยระบุ
บริษัท การบินไทย ยังแจ้งด้วยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จากเดิมที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการประชุมเจ้าหนี้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting)โดยจัดขึ้นในวันและเวลาเดิม วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น.
นอกจากนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังได้ขยายระยะเวลาให้เจ้าหนี้สามารถลงมติล่วงหน้าได้ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 โดยเจ้าหนี้จะได้รับแจ้งรายละเอียดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผ่านทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ และ ท่านสามารถอ่านประกาศเกี่ยวกับการประชุมออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี LED.go.th
อนึ่ง ขั้นตอนการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นขั้นตอนสำคัญตามกฎหมาย การบินไทยจะไม่สามารถดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไปได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนและความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ทั้งหลายที่เพียงพอตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
ด้านนายวิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ทำหนังสือถึงนายกฯ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินให้กับการบินไทย จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทย รวมทั้งส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
"หากฝ่ายรัฐมิได้ออกนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินให้กับการบินไทยได้ทันก่อนวันที่ 12 พ.ค.2564 การนี้จะเกิดวิกฤติการถอนเงินจากสมาชิกของ ชสอ. และสหกรณ์สมาชิก รวมทั้งสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินอย่างรุนแรง เพราะชสอ. และสหกรณ์สมาชิกอาจต้องเบิกเงินเพื่อนำมาเตรียมไว้ให้สมาชิกถอนไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท" หนังสือระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage