นิด้าโพลเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2564” จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 30.10 ระบุว่า ยังหาคน ที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 28.79 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอันดับ 3 ร้อยละ 12.09 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
......................................
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2564” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 26 มีนาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,522 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 30.10 ระบุว่า ยังหาคน ที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 28.79 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา ตัดสินใจได้เด็ดขาด มีความซื่อสัตย์ มีโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนทุกเพศทุกวัยได้อย่างทั่วถึง ชื่นชอบในการบริหารงานได้ดี เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 3 ร้อยละ 12.09 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะ อยากให้ผู้หญิงขึ้นมาบริหารประเทศบ้าง มีประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาได้ดี เป็นคนตรงไปตรงมา มีความเป็นผู้นำ และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 4 ร้อยละ 8.72 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริง ทำจริง ชื่นชอบนโยบายและการทำงานของพรรค มีความซื่อสัตย์ และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 5 ร้อยละ 6.26 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ อยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชื่นชอบนโยบายพรรค และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 6 ร้อยละ 3.25 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 7 ร้อยละ 2.70 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง กล้าคิด กล้าทำ มีความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ มีผลงานในการทำงานที่ดีตั้งแต่อยู่พรรคเก่า มีความซื่อสัตย์ และมีความน่าเชื่อถือ อันดับ 8 ร้อยละ 2.02 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีผลงานในการทำงานที่ดี โดดเด่น เป็นคนตรงไปตรงมา และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 9 ร้อยละ 1.90 ระบุว่าเป็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (พรรคเพื่อไทย) เพราะ ชื่นชอบการทำงานและผลงานของพรรคในการช่วยเหลือประชาชน และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 10 ร้อยละ 1.15 ระบุว่า นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคเศรษฐกิจใหม่) เพราะ มีนโยบายพรรคที่ชัดเจน มีวิสัยทัศน์ที่ดี น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และร้อยละ 3.02 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ)
และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 4/63 เดือนธันวาคม 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ยังหาคน ที่เหมาะสมไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นายกรณ์ จาติกวณิช นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 29.82 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 2 ร้อยละ 22.13 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 16.65 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 ร้อยละ 13.48 ระบุว่า พรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 7.10 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 3.81 ระบุว่า พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 7 ร้อยละ 3.25 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.03 ระบุว่า พรรคชาติไทยพัฒนา และร้อยละ 2.73 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคกล้า พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยภักดี พรรคประชาชาติ
พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ
และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 4/63 เดือนธันวาคม 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย พรรคเสรีรวมไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น