วงเสวนา'เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก: สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบเมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม' ชี้รัฐควรจัดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กแสดงความคิดเห็น และทำหน้าที่เชิงบวกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก
.......................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการศิลปะเพื่อสิทธิเด็ก 'Silent Voice Matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง' ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา 'เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก: สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบเมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม' โดย น.ส.จินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิสายเด็ก กล่าวว่า การที่เด็กๆในประเทศไทยกำลังจะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือออกมาหาที่ปลอดภัยให้กับตัวเองนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นที่เมืองไทยเป็นที่แรก โดยก่อนหน้านี้ เกรต้า ธันเบิร์ก เยาวชนชาวสวีเดนที่ออกมาเรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น จนส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจจนตั้งเป้าหมายการลดใช้พลังงานต่างๆ เป็นต้น
น.ส.จินดา กล่าวต่อไปว่า เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีเด็ก เยาวชนออกมาเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสะท้อนถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเด็ก เด็กไม่ควรเข้ามายุ่ง แต่เด็กอยู่ในโลกใบนี้ เจอปัญหาต่างๆเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเด็กก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าความคิดเห็นนั้นจะถูกต้องหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน
"อยากให้รัฐทำหน้าที่เชิงบวกในการปกป้องคุ้มครองเด็ก เยาวชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น เคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงออกมาเรียกร้องในการชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะรุนแรงหรือไม่ อีกทั้งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีกด้วย" น.ส.จินดา กล่าว
ด้าน น.ส.ธญานี เจริญกูล ตัวแทนเยาวชน กล่าวถึงสาเหตุการออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม ว่า เนื่องจากเด็ก เยาวชนได้รับผลโดยตรงต่อปัญหานั้นๆ และคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยปัญหาสังคมนั้นก็ส่งผลกระทบต่อตนเองด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มนักเรียนเลว ที่ออกมาเรียกร้องด้านการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าการศึกษาปัจจุบันไม่ตอบโจทย์กับการดำรงชีวิตในอนาคต อีกทั้งมีการตีกรอบ การริดรอน รวมถึงการละเมิดสิทธิในสถานศึกษาด้วย เป็นต้น
น.ส.ธญานี กล่าวว่า จากประโยคที่ว่าเยาวชนคืออนาคตของไทย แต่เมื่อไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ปลอดภัยสำหรับการแสดงความคิดเห็น เยาวชนจึงต้องลงมาที่ถนนเพื่อเคลื่อนไหวทางสัม และพบกับความรุนแรงจากรัฐ แสดงให้เห็นว่า รัฐกำลังทำร้ายอนาคตของชาติอยู่ ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา การออกมาแสดงออก เคลื่อนไหว หรือเรียกร้องต่างๆที่เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านนั้นๆ ได้ยินและรับรู้ แต่ไม่ใช่เป็นการรับฟังและไม่มีการนำไปพิจารณาต่อ
ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลายคนอาจจะคิดว่าคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จในการออกมาทำลายความเงียบเรียกร้องสะท้อนถึงปัญหาต่างๆ แต่ในความเป็นจริงประสบความสำเร็จเพียงด้านเดียวคือการส่งเสียงให้สังคมทราบถึงปัญหา แต่ในด้านของรัฐ ผู้กำหนดนโยบายหรือแก้ปัญหานั้น ไม่ได้รับฟัง เนื่องจากกรอบโครงสร้างในการวิเคราะห์ปัญหาของรัฐมีปัญหาในตัวเอง ที่ไม่นับรวมการออกมาสะท้อนปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของการออกนโยบาย
ส่วน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ตัวแทนผู้ปกครอง กล่าวว่า สังคมไทยค่อนข้างที่จะมีความย้อนแย้งอยู่พอสมควร เมื่อพูดถึงเด็ก ส่วนใหญ่จะพูดว่ารักเด็ก การมีวันเด็ก เด็กคืออนาคตของชาติ อีกทั้งผู้ใหญ่หลายคน รวมทั้งกะทรวงศึกษาธิการ บอกว่าทักษะเด็กในศตวรรษที่ 21 คือ การคิดวิเคราะห์ การมีความคิดสร้างสรรค์ ตามทฤษฎี แต่ในทางปฎิบัติ เมื่อเด็กเริ่มตั้งคำถาม เริ่มคิดวิเคราะห์จริงๆ คำถามคือผู้ใหญ่ที่พูดว่าการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามนั้นเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นได้มากน้อยแค่ไหน
ดร.มานะ กล่าวถึงเรื่องที่เด็กออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหว ว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่ในอดีตพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงอาจารย์ก็เคยพบเจอ แต่สิ่งที่ต่างกันคือในอดีตไม่มีช่องทางที่จะแสดงออก จึงได้แต่เป็นการกดทับและอดทนต่อปัญหานั้น แต่ในปัจจุบัน เด็กสามารถสื่อสารถึงปัญหาที่พบเจอถึงกันและกันได้ อีกทั้งสามารถสะท้อนปัญหาผ่านสื่อสังคมต่างๆ ทำให้เด็กได้ตั้งคำถามและเรียนรู้รวมกันของสังคมต่างๆ ไม่ใช่เพียงสังคมที่ตนเองพบเจอเท่านั้น
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า ในอดีตมีการพูดถึงการปฎิรูปการศึกษา การเมืองต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงแค่คำพูด ปัจจุบันเด็กมีการตื่นตัวมากขึ้น สะท้อนปัญหาที่เริ่มจากปัญหาใกล้ตัวและขยายผลไปเรื่อยๆ อีกทั้งพบว่าปัญหาต่างๆนั้นเชื่อมถึงกัน ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียนจะเปิดพื้นที่รับฟัง พูดคุยให้กับเด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและวางอนาคตของพวกเขาเอง
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการเปิดตัวโครงการ 'ในม็อบมีเด็ก' (Child in Mob สู่ Child in protest) โดยนางปิยนุช โคตรสาร ตัวแทนโครงการในม็อบมีเด็ก เปิดเผยวัตถุประสงค์ว่า เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ดูแลปกป้อง และสนับสนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยการลงพื้นที่ทำงานนั้น ใช้หลักการที่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก และหลักการมนุษยชนสากลสำคัญ 4 ข้อ คือ การไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็ก การคำนึงถึงประของเด็ก เด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดและได้รับการพัฒนา และการเคารพความคิดเห็นของเด็ก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage