ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิดในประเทศ คาดได้ข้อสรุป มิ.ย.2564 ก่อนเสนอเป็นแผนปฏิรูประบบสุขภาพของไทยต่อไป
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวทางการควบคุมและป้องการระบาดของโควิดในปัจจุบัน ภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสังเคราะห์นโยบายทางเลือกการจัดการวัคซีนโควิดในประเทศไทย โดยศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร ว่า กรอบแนวคิดที่ประเทศไทยใช้กำหนดทิศทางการจัดการปัญหา มักอาศัยกระบวนการคิด วิธีการแก้ไขปัญหา และกระบวนทัศน์ในการสร้างความรู้กระแสหลักที่มุ่งเน้นการแยกแยะศาสตร์ออกเป็นแขนงต่างๆ เช่น การแพทย์ การสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยเน้นการพัฒนาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เชิงลึก ทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด ซึ่งมีแนวความคิดแบบแยกส่วน ส่งผลให้นโยบายการจัดการปัญหาดังกล่าวของไทยไม่ประสบความสำเร็จเต็มที่ตามเป้าหมาย
ผศ.ดร.นพ.บวรศม กล่าวว่า ตัวอย่างการบริหารจัดการปัญหาโควิดที่มีแนวคิดแยกส่วน กรณีการล็อคดาวน์ (Lockdown) ประเทศในช่วงแรกของการระบาด ไทยมีแนวความคิดในการลดจำนวนผู้ป่วยให้เป็นศูนย์ให้เร็วที่สุด รวมถึงการคงไว้ซึ่งจำนวนดังกล่าวกว่า 120 วัน เพื่อความเชื่อมั่นภายในประเทศถึงความปลอดเชื้อ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม จนเกิดปัญหาการตกงาน การว่างงาน หรือการขาดทุนทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและธุรกิจการบิน
"การวางแผนไม่ครบถ้วนรอบด้าน อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายล่าช้า ส่งผลต่อการจัดบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ เนื่องจากต้องรีบใช้บุคคลากรการแพทย์ เพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็ว หรืออาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางการสื่อสาร เมื่อผู้บริหารระดับเชิงนโยบายสื่อสารออกมาไม่ชัดเจน อาจทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิด รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่อาจเกิดความเหลื่อมล้ำสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนได้" ผศ.ดร.นพ.บวรศม กล่าว
ผศ.ดร.นพ.บวรศม กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการสังเคราะห์ข้อเสนอนโยบายและการวางแผนการปรับตัวหลังวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย เพื่อระดมความคิดจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างแบบจำลองการวางแผนการปรับตัวหลังวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมวางแผนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว ภายในเดือนมิ.ย.2564
ด้าน ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบทางสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตามแม้ว่าไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่น แต่สงครามยังไม่จบ เนื่องจากฉากสุดท้ายของโควิด คือวัคซีน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการควบคุมโรค และเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศในการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม
"การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ เพื่อระดมความคิดจากหลายๆฝ่าย ถ้าหากไทยยังไม่สามารถวางแผนเชิงนโยบายเชิงระบบ เกิดการเปิดประเทศล่าช้า ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะโรงแรม หรือธุรกิจบริการต่างๆ อาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้" ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบประเด็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนขึ้นมาหารือกันซึ่งยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น บางกลุ่มเสนอให้มีการแจกจ่ายวัคซีนให้กับทุกจังหวัดอย่างเท่าเทียมทุกชนชาติรวมถึงแรงง่านต้างด้าวด้วย ขณะที่บางกลุ่มเสนอให้บริหารจัดการวัคซีน โดยแบ่งตามความหนาแน่นของประชากรในแต่ละจังหวัด รวมถึงการบริหารจัดโดยใช้เกณฑ์พื้นที่เสี่ยงติดโควิดเป็นหลักในการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม การหารือวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อนำไปสู่การวางแผนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว ในช่วงเดือน มิ.ย.2564 ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage