กสศ.-นักวิชาการประสานเสียงเสนอแบ่งโซนเปิดโรงเรียนในจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ไม่พบการระบาดคู่กับมาตรการควบคุมเข้มงวด จับมือหน่วยงานภาคีสมุทรสาคร เร่งช่วยเด็กในวิกฤตการศึกษา ค้นหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงป้องหลุดออกนอกระบบ เยียวยาสภาวะความรู้ถดถอย เปิด EQUITY LAB นำนักจัดการศึกษาในภาวะวิกฤตระดับโลก ช่วยโค้ชครูสมุทรสาคร
จากกรณีสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยังคงกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หน่วยงานด้านการศึกษาหลายภาคส่วนเสนอเปิดโรงเรียนแบบโซนนิ่ง เพื่อลดผลกระทบความรู้ถดถอย หลังจากปิดเรียนยาวนานนั้น
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ดร.รัฐวิทย์ ทองนวรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เมื่อที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมร่วมกับหลายภาคส่วนทางการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อประมวลสถานการณ์และผลกระทบจากการปิดสถานศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 เดือน ซึ่งจากการประกาศของศบค.ล่าสุดสมุทรสาครยังคงเป็นพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุดและเข้มงวดยังต้องปิดสถานศึกษาทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ยอมรับว่า การปิดเรียนส่งผลต่อเด็กในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงการศึกษาออนไลน์ ยิ่งต่อไปต้องไปสอบเอ็นที โอเน็ต ทำให้เด็กสมุทรสาครที่ต้องหยุดเรียนไปถึง 3-4 เดือนเสียเปรียบเด็กในพื้นที่อื่นเป็นอย่างมาก ตลอดจนเด็กอาชีวะที่ไม่สามารถสอบภาคปฏิบัติหรือไปฝึกงานตามหลักสูตรได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามคิดหาทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ซึ่งได้หารือร่วมกับรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเพื่อเสนอต่อไปยัง ศบค. ให้มีมาตรการโซนนิ่ง พิจารณาว่าพื้นที่ไหนไม่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดก็ให้เปิดโรงเรียนได้ โดยมีมาตรการสาธารณสุขที่เข้าไปดูแลอย่างเข้มงวดในช่วงที่เปิดการเรียนการสอน เพื่อให้ผ่อนหนักเป็นเบาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ที่ต้องหยุดเรียนมาต่อเนื่องยาวนานให้กลับมาได้เรียนได้เร็วที่สุด บางโรงเรียนได้เตรียมพร้อมทั้งการทำความสะอาด และวางแผนตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เช่น วางมาตรการตรวจ Swab ครูก่อนที่จะมาสอนพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีครูติดเชื้อมาแพร่สู่เด็ก
ดร.รัฐวิทย์ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่จะทราบว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยง มีการแพร่ระบาดที่จะสามารถพิจารณาร่วมกันกับหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ไม่พบสถิติการติดเชื้อ ก็ให้เปิดทำการเรียนการสอนได้ เมื่อเปิดแล้วก็จะมีมาตรการดูแลนักเรียนที่เข้มงวด รวมทั้งคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้ปกครองกลุ่มนี้ทำงานอยู่ในโรงงานที่มีความเสี่ยง ก็จะให้เด็กเรียนออนไลน์ หรือเรียนผ่านใบงานอยู่ที่บ้านเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำเชื้อมาแพร่ที่โรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมีข้อมูลที่สามารถคัดแยกความเสี่ยงได้
“เมื่อเปิดเรียนได้แล้วก็จะมีมาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อช่วยให้เด็กในจ.สมุทรสาคร เรียนตามเด็กในพื้นที่อื่นได้ทัน เช่น การเติมภูมิรู้ให้ครูทั้งเทคนิคการสอนเสริม สอนลัด ไปจนถึงเสริมด้วยสื่อการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่สอนไปเรื่อยๆ เหมือนปกติเท่านั้น เพราะเด็กกลุ่มนี้หยุดเรียนมานานต้องมีวิธีช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งส่วนนี้สามารถประสานกับทาง กสศ. เพื่อสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนให้เด็กเรียนให้ทันโรงเรียนอื่น รวมทั้งในระยะต่อไปจะมีมาตรการช่วยเหลือครอบครัวที่ผู้ปกครองถูกเลิกจ้างงานและมีเด็กหลุดจากระบบ ทั้งการเสริมทักษะอาชีพให้กับนักเรียน หรือการช่วยเหลือไปถึงผู้ปกครองด้วย ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตทางการศึกษาของจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีกสศ.ร่วมสนับสนุนความช่วยเหลือเพิ่มเติม เป็นความร่วมมือบูรณาการบรรเทาผลกระทบด้านการศึกษาที่มีต่อเด็กและเยาวชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว” ดร.รัฐวิทย์ กล่าว
@นักวิชาการ หนุน โซนนิ่งเปิด ร.ร.สมุทรสาคร ลดช่องว่างเหลื่อมล้ำ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การสื่อสารท่ามกลางสถานการณ์ในจังหวัดสมุทรสาคำมาสู่ “มายาอคติ” ทำให้ระบบการศึกษาในพื้นที่ถูกกระทำ จนมีคำสั่งให้ปิดสถานศึกษาอย่างไม่เป็นธรรมกับ เด็ก ครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ขาดข้อมูล ขาดการเชื่อมโยงกับคนมีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดสมุทรสาครจนเกิดภาวะการถดถอยทางการเรียนรู้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษา ที่พ่อแม่ตกงานลูกต้องหยุดเรียนไปหางานทำ เด็กมัธยมศึกษาขาดอุปกรณ์ อินเตอร์เน็ต มือถือ ขณะที่การเรียนจากใบงานไม่ปะติดปะต่อ และเด็กประถมศึกษาอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา กลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่หนักข้อขึ้นไปอีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันช่วยเหลือครั้งใหญ่ เพราะยังมีปัญหาที่ตามมาจากการที่โรงเรียนต้องปิดนานกว่าพื้นที่อื่นเช่นการเรียนต่อ การสอบ ONET เด็กอาชีวศึกษาที่จะต้องสอบใบมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเด็กสมุทรสาครมาก ซึ่งมาจากที่เราทราบข้อมูลการศึกษาน้อยมากในพื้นที่ จนทำให้ตัดสินใจปิดโรงเรียนยาวนาน ทั้งที่สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเหลือหลักสิบ
“ทางออกของปัญหาที่จ.สมุทรสาคร เสนอทางออกคือวิธีการจัดการศึกษาในลักษณะการจัดการเชิงพื้นที่แบ่งเป็นโซนสี พื้นที่ไหนพอจะคลายล็อกได้ก็ให้ดำเนินการเปิดโรงเรียนเร็วที่สุด โดยมีมาตรการสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในการจัดการช่วยเปิดการเรียนเพื่อควบคุมป้องกันการติดเชื้อ ในเวลานี้เราไม่สามารถปล่อยให้เด็ก หรือครู ต้องเผชิญปัญหาได้ตามลำพังอีกต่อไป กสศ. จะเข้ามามีส่วนร่วมประสานความร่วมมือ รูปแบบต่าง ๆ ทั้ง สื่อการเรียนการสอน ทุนสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับเด็กและเยาวชนในวิกฤติการศึกษา เพื่อเยียวยาผลกระทบที่ตามมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัด.สมุทรสาคร” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
@เชิญนักการศึกษาระดับโลก ช่วยเด็กบรรเทาความรู้ถดถอย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามขณะนี้คือ ผลกระทบด้านการศึกษา โดยเฉพาะภาวะการถดถอยของการเรียนรู้ (Learning Loss) ที่เครือข่าย กสศ. เพิ่งพบหลักฐานในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จากปัญหา Covid Slide ขณะนี้เหลือเวลาเพียงเดือนเศษสำหรับการเรียนการสอนในภาคเรียนสุดท้ายของปีการศึกษา 2563 แต่ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจังหวัดสมุทรสาครจะเปิดเรียนได้อีกหรือไม่ในปีการศึกษา 2563 หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เด็กๆในพื้นที่จะขาดโอกาสการได้รับการเรียนการสอนเหมือนนักเรียนในช่วงชั้นเดียวกันยาวนานถึง 1 ภาคเรียน และหากรวมช่วงปิดเทอมฤดูร้อน หมายถึงนักเรียนในสมุทรสาครจะไม่ได้ไปโรงเรียนยาวนานมากถึง 7 เดือนเต็มๆ
ดร.ไกรยส กล่าวว่า เพื่อลดกระทบดังกล่าว กสศ.ร่วมกับหลายภาคส่วนในจังหวัดสมุทรสาครพัฒนาสมุทรสาครเป็น “พื้นที่ทดลองนำร่องในการจัดการภาวะวิกฤตทางการศึกษา” หรือสมุทรสาครโมเดล เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระดมความร่วมมือทั้งในจังหวัดและภาคส่วนต่างๆ บูรณาการทุกหน่วยงานในบอร์ดของกสศ.รวมถึงภาคเอกชน โดยมี 4 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการคือ 1. การเร่งสำรวจและประเมินผลกระทบจาการที่นักเรียนต้องหยุดเรียนยาวนานเป็นรายบุคคล เช่น ภาวะการถดถอยของการเรียนรู้ (Learning Loss) และ ภาวะทุพโภชนาการของเด็กเยาวชนในพื้นที่ 2. การทำงานร่วมกันของเครือข่ายสถานศึกษาในสมุทรสาครเพื่อวางแผนการจัดการเรียนการสอนในช่วงรอยต่อระหว่างปีการศึกษา 2563-2564 ด้วยการบูรณาการเนื้อหาระหว่าง 2 ปีการศึกษาและการติดตามประเมินผลนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้สมวัยในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้
3.การระดมเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนรู้ เพื่อปิดช่องว่างที่ทำให้เด็กด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงการเรียนได้ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งยังมีการระบาด ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เพื่อแก้ไขปัญหาภาวการณ์ถดถอยของการเรียนรู้ และภาวะทุพโภชนาการของเด็กเยาวชนในพื้นที่ และ 4. การติดตามเด็กที่ประสบปัญหาวิกฤตการศึกษาเป็นรายคนเพื่อป้องกันการหลุดออกนอกระบบในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กเปราะบาง เด็กด้อยโอกาสที่ควรให้ความสำคัญเป็นกลุ่มแรก ทั้งนี้ Equity Lab กสศ.ยังจัดให้มีนักการศึกษาระดับโลกและผู้เชี่ยวชาญ จาก OECD คุณ พอล คอลลาร์ด (Mr.Paul Collard) ผู้มีประสบการณ์ในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในภาวะวิกฤตในประเทศต่างๆ มาทั่วโลก มาช่วยอบรมพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อบรรเทาปัญหาความรู้ถดถอยให้กับครูในพื้นที่สมุทรสาครอีกด้วย
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงาน Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC ที่จะกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในช่วง COVID-19 ว่าควรทำอย่างไร ซึ่งมีคำแนะนำว่า โรงเรียนถือเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ควรจะเป็นที่สุดท้ายที่จะปิด และเป็นที่แรกที่จะเปิด โดยให้มีมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะสถานศึกษาของเด็กเล็กที่มีสถิติการติดเชื้อน้อยมาก ขณะที่การที่เด็กเล็กไม่ได้ไปเรียนจะส่งผลเสียมากกว่ากลุ่มเด็กโต นอกจากนี้ ทาง CDC ยังมีคำแนะนำเป็นแนวทางปฏิบัติกำหนดพื้นที่เป็น 4 ประเภท คือ สีน้ำเงิน มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 5 % สีเหลือง มีผู้ติดเชื้อ 5-7.9% สีส้ม มีผู้ติดเชื้อ 8-9.9% และ สีแดงมีผู้ติดเชื้อ มากกว่า 10 % โดยแม้แต่ในพื้นที่สีแดงก็ยังไม่มีมาตรการให้ปิดโรงเรียนถาวร แต่ให้ใช้หลักเกณฑ์การดูแลป้องกัน เช่น การตรวจหาเชื้อครูทุกคนทุกสัปดาห์ และสุ่มตรวจเด็ก 10 % ทุกสัปดาห์ ขึ้นกับความสมัครใจของเด็ก
โดยทั้งพื้นที่สีแดงและสีส้ม จะใช้วิธีการเรียนแบบผสมทั้งออนไลน์และในห้องเรียน ซึ่งการจัดห้องเรียนจะมีทั้งลดจำนวนเด็ก สลับวันเรียน และมาตรการโซเชียลดิสแทนซิ่ง ไม่ให้เด็กสัมผัส ไม่มีการเล่นกีฬา พร้อมทั้งมีคำแนะนำให้จัดเป็น Learning Pod ทดสอบการติดเชื้อทั้งเด็กและครูเพื่อลดความเสี่ยงมาจัดการสอนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ส่วนโซนสีน้ำเงินเรียนได้ตามปกติแต่ให้มีมาตรการป้องกัน เช่นการนั่งห่าง 6 ฟุต เล่นกีฬาได้แต่ต้องไม่มีการสัมผัสตัว โดยยังต้องมีการทดสอบการติดเชื้อครูทุกสัปดาห์แต่ไม่ต้องมีการทดสอบเด็ก
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า หากเทียบเคียงกับในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ยังปิดสถานศึกษาทั้งจังหวัด ส่งผลให้เด็กเกิดความถดถอยทางการเรียนรู้มากกว่าพื้นที่ที่เริ่มเปิดเรียนได้แล้ว โดยทางออกสามารถแบ่งโซนคล้ายกับสหรัฐได้ โดยพิจารณาการติดเชื้อในพื้นที่ บ้านเด็กนักเรียน การเดินทางของเด็กที่ต้องข้ามเขตพื้นที่ไปยังโซนเสี่ยงหรือไม่ หากพื้นที่ไหนไม่มีความเสี่ยงก็อาจเปิดการสอนได้ โดยมีมาตรการควบคุมการแพร่การระบาด พร้อมตรวจหาเชื้อครูอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งโรงเรียนจะมีข้อมูลว่าผู้ปกครองคนไหนทำงานในพื้นที่เสี่ยงก็กำหนดให้เด็กคนนั้นเรียนออนไลน์ไม่ต้องมาที่โรงเรียน พร้อมกันนี้ควรมีการประเมินความรู้เด็กว่าลดลงไปในช่วงที่หยุดเรียนนาน ๆ เพื่อหามาตรการไปช่วยเหลืออย่างการสอนเสริมนอกเวลาเรียนปกติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage