อนุกรรมการบริหารแพทยสภา แถลงจุดยืน 4 ข้อ กรณีสลายชุมนุม 'ม็อบ 13 กุมภา' ย้ำไม่เห็นด้วยการใช้กำลังเกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย แนะจัดระบบติดสัญลักษณ์บุคลากรแพทย์ให้ชัดเจน เป็นสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทุกฝ่าย
…………………………………..
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2564 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกแพทยสภาคนที่สอง และ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีประชาชน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และอาสาสมัครทางการแพทย์ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมว่า สถานการณ์ในประเทศไทยเวลานี้เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย เมื่อมีความคิดเห็นจะมีการแสดงออกต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งแพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพและมีหน้าที่หลักที่สำคัญคือการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นกลาง โดยไม่มีการแบ่งฝักฝ่าย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อนุกรรมการบริหาแพทยสภาไม่เห็นด้วยกับการกระทำใดๆ ที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว แพทยสภาไม่อยากให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น จึงอยากขอให้ประชาชนชาวไทยด้วยกัน แสดงความคิดเห็นกันในเชิงลักษณะสร้างสรรค์ ไม่ก่อให้การยั่วยุ หรือการกระทบกระทั่ง เนื่องจากหากไม่ทำสิ่งเหล่านี้ จะมีแนวโน้มเกิดความรุนแรงตามมาได้ และสิ่งสำคัญคือความรุนแรงดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเฉพาะฝ่ายแสดงความคิดเห็น หรือฝ่ายปกครองเท่านั้น แม้กระทั่งประชาชนที่เดินสัญจรไปมา อาจได้รับผลกระทบด้วย
ทั้งนี้อยากขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล เนื่องจากหากมีการทำลายกันเกิดขึ้น การดำเนินการช่วยหรือบรรเทาความเสียหายอาจทำได้ยาก
รวมถึงอยากขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานกันอย่างเป็นระบบ โดยให้มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัยตามหลักสากล เนื่องจากเวลามีมวลชนร่วมชุมนุมกันเยอะ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์แต่งตัวอย่างไร ซึ่งในอนาคตจะมีวางรูปแบบสัญลักษณ์ที่ชัดเจน การคัดกรอง และลงทะเบียนบุคลากรและอาสาทางการแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลเหล่านี้ได้ไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพที่จะดูแลให้เกิดความปลอดภัย เป็นกลาง และไม่เลือกปฏิบัติ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า บุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ที่เข้ามาและดำเนินการอย่างเป็นระบบ ขอแสดงความชื่นชมทุกท่าน ที่เสียสละและมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวถึงระบบการดูแลแบบฉุกเฉินในช่วงที่มีการชุมนุมว่า ระบบหลักเป็นระบบฉุกเฉินของ กทม .ที่ประสานโดยเอราวัณ ที่แบ่งกทม.ออกเป็น 9 โซน และจะมีทีมตามโรงพยาบาลหลักๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงบาลกลางวชิระ และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ โดยทีมจะมีบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมกับอาสาสมัคร และมีกำลังเสริมเป็นมูลนิธิต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิปอเต็กตึ้ง ซึ่งได้รับการอบรมเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวจะมีหลักการปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญคือการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการปะทะโดยตรง เนื่องจากหากบุคลากรทางการแพทย์ป่วย จะไม่สามารถช่วยคนอื่นได้ อย่างไรก็ตามในการชุมนุมดังกล่าวมีจิตอาสามาร่วมด้วย ซึ่งมีการใช้สัญลักษณ์กากบาทสีเขียว ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มดังกล่าวจะเข้ามาช่วยมาดูแลเสริมกับกลุ่มหลักที่เป็นบุคลากรทางแพทย์หรืออาสาสมัครตามหลักจรรยาบรรณ เป็นกลาง และไม่เลือกปฏิบัติด้วย
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้แพทยสภากลับคิดอีกครั้งว่าระบบควรจะต้องทำบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครได้รับความปลอดภัยด้วย ซึ่งแพทยสภาได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่าจะมีกลไกอย่างไร เพื่อให้เกิดการแสดงตัวตนอย่างชัดเจนว่าเป็นทีมผู้มาปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงจะต้องมีการเรียนรู้บางเรื่องเข้าใจขั้นตอน อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย และควรมีการเชื่อมโยงเน็ตเวิร์กกับกระทรวงสาธารณสุขที่มีหน่วยสถานพยาบาลหรือรถพยาบาลที่ตั้งอยู่ด้วย เนื่องจากการเข้าไปวิ่งร่วมด้วย อาจจะไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้นแล้วทีมแพทย์และอาสาสมัครอาจจะต้องมีองค์ความรู้และสัญลักษณ์ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันของทุกฝ่ายอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้จากกรณีประชาชน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และอาสาสมัครทางการแพทย์ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าว อนุกรรมการบริหารแพทยสภาแถลงจุดยืนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว 4 ข้อ ดังนี้
1. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณ หรือสัญจรผ่านพื้นที่ใกล้เคียง
2. ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล
3. ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากล ที่สำคัญคือ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดถือความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
4. ขอแสดงความชื่นชมต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละและมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/