กสศ.ชวนสถาบันการศึกษาสายอาชีพภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ร่วมสร้าง 'ความพิเศษ' เป็น 'พลัง' กับโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนพิการ ปี 2564 รุ่น 2 สร้างโอกาสเรียนสายอาชีพ ผลิตบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพ มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้หลังจบการศึกษา หลังพบข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 มีผู้พิการ ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมออนไลน์ชี้แจง โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ปี 2564 โดยมีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดสอนสายอาชีพเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) กว่า 240 แห่ง และพร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ เช่น ทางร่างกาย สติปัญญา ได้รับโอกาสในการศึกษาในสายอาชีพ เพื่อการพัฒนาศักยภาพตนเอง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กล่าวว่า การเปิดโอกาสสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากฐานความเชื่อที่ว่าการจะพัฒนาประเทศได้ จำเป็นต้องใช้กำลังคนสายอาชีวศึกษาจำนวนมาก และจะต้องมอบโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนทุกกลุ่ม ให้ได้ขัดเกลาความรู้ความสามารถในตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยการศึกษา และภารกิจของ กสศ. คือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในด้านการมอบโอกาสทางการศึกษา และเสริมสร้างประสิทธิภาพของครูและสถาบันการศึกษา ดังนั้น หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ คือการส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) ที่ยังขาดโอกาสทาง หรือแม้มีโอกาสเข้าถึงได้ ก็ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน และ โอกาสในการมีงานทำ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต
“การที่ กสศ. ได้เปิดให้โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รองรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) ซึ่งในปีนี้เป็นรุ่นที่ 2 จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสทัดเทียมกับคนอื่นในสังคม การจะสร้างบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพได้นั้น จะต้องอาศัยการดูแลจากสถานศึกษา เพื่อสร้างความพร้อม สนับสนุนให้มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้หลังจบการศึกษา ตรงนี้คือสิ่งที่เราคิดว่า คือการสร้างความพิเศษให้เป็นพลัง ซึ่ง กสศ. จำเป็นต้องร่วมมือกับสถาบันที่มีความพร้อมในการดูแลนักเรียนกลุ่มนี้จริง ๆ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานเพชร กล่าว
ขณะที่ น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ. ได้ดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพให้แก่เยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่ยากลำบากและเยาวชนที่ด้อยโอกาส โดยในกลุ่มของกลุ่มเยาวชนพิการ นั้นจากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 (Nation Statistics, 2018) พบว่ามีบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเพียง 1 ใน 3 ที่ได้เข้ารับการศึกษา ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษามากที่สุด ส่วนบุคคลที่มีความต้องการพิเศษในวัยทำงาน ช่วงอายุ 18-59 ปี ไม่มีงานทำถึงร้อยละ 59 เพื่อพัฒนารูปแบบ (Model) การจัดการศึกษาสายอาชีพให้เยาวชนผู้พิการ ตั้งแต่ปี 2563 กสศ. จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คณะครุศาสตร์ สาขาการศึกษาพิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาอาชีวศึกษานำร่องจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพฯ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลุบรี วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ ได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนผู้พิการ และพัฒนารูปแบบ (Model) การจัดการศึกษาที่จะตอบโจทย์ด้านการดูแลความเป็นอยู่ การพัฒนาทักษะชีวิต หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาตามศักยภาพรายบุคคล และการทำงานกับสถานประกอบการเพื่อให้เกิดการมีงานทำหลังเรียนจบ โดยในปีนี้ กสศ. ขอเชิญชวนสถานศึกษาภาครัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาในระดับ ปวส. ยื่นข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และจะจัดให้มีกระบวนการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพภายใต้งบประมาณที่สนับสนุนได้อย่างมีส่วนร่วม โดยมีเกณฑ์พิจารณาตามกรอบคุณภาพ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความพร้อมความเชื่อมั่นในคุณภาพสาขาหลักสูตร โอกาสการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนในลักษณะ Matching Fund ประสบการณ์การจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ผลการผลิตนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานเป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของสถานประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น 2.การจัดแนะแนวและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับทุนการศึกษาให้กับสถานศึกษาที่มีเยาวชนผู้พิการ 3.วิธีการค้นหาและคัดเลือกนักเรียนเข้ารับทุน ที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม โปร่งใสและเป็นธรรม 4.ระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจบตามกำหนดเวลา 5.การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพตามสาขาวิชา นำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และ 6. การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา เช่น การทำความร่วมมือกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ฯ เป็นทุนแฝดที่ให้งบประมาณทุนการศึกษาแก่เยาวชน และงบประมาณสนับสนุนคุณภาพการทำงานทั้ง 6 ด้านของสถานศึกษาที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาสายอาชีพที่มีประสิทธิภาพเสนอต่อภาคนโยบายต่อไป ภายใต้แนวคิดหลัก คือ สร้าง 'ความพิเศษ' เป็น 'พลัง' ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษานำไปสู่การมีงานและชีวิตที่ดีของเยาวชนผู้พิการ
“โครงการดังกล่าวมุ่งหวังให้เป็นอีกหนึ่งกลไกช่วยพัฒนาผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษให้มีโอกาสทางการศึกษาได้เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป และจะพัฒนาให้ผู้เรียนจนสำเร็จการศึกษา และมีงานทำ ผ่านแรงสนับสนุนของสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับสถานศึกษาที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอผ่านระบบรับสมัครออนไลน์เท่านั้น ที่เว็บไซต์ https://eefinnovet-special.com/ตั้งแต่วันนี้ – 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 หรือสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-079-5475 กด 2 ในวันและเวลาราชการ” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิสศา ตันติเฉลิม หัวหน้าชุดโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รุ่นที่ 1 ได้ดำเนินมาแล้ว 8 เดือน ซึ่งพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ ที่ทำให้เชื่อได้ว่า ทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันสร้างความพิเศษให้เป็นพลังได้จริง จาก 8 เดือนที่ผ่านมา เราได้พบกับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง เพื่อไม่ให้ครอบครัวต้องรับภาระในการดูแล เยาวชนหลากหลายกลุ่มที่มีทางเลือกหรือมีที่มาแตกต่างกัน เรามองว่าความพิเศษที่มีอยู่ในตัวของทุกคนนั้นสามารถพัฒนาศักยภาพไปได้ถึงจุดสูงสุด โดยสถานศึกษาและทุกคนในสังคม โดยเฉพาะสถานประกอบการและองค์กรภาคีเครือข่าย ที่จะเป็นผู้เปิดประตูการศึกษา และนำพาเยาวชนกลุ่มนี้ไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้
“สถานศึกษาสายอาชีพก็มีต้นทุนที่ดี มีความยืดหยุ่น ความพร้อม และมีใจรักที่จะดึงศักยภาพของพวกเขาออกมา ไม่ว่าแต่ละคนจะมาด้วยความไม่พร้อมในด้านใดก็ตาม อีกส่วนหนึ่งคือระบบของวิทยาลัยที่มีการประสานเชื่อมโยงกับสถานประกอบการให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริง ซึ่งสิ่งที่เราจะหนุนเสริมเพิ่มเติมคือเรื่องของหลักสูตร และการติดตามว่าสถานศึกษาและสถานประกอบการทำงานร่วมกันอย่างไร สำหรับสิ่งที่เราอยากจะเห็นในปีถัดไป คือการที่สถาบันที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นเครือข่ายในโครงการของเราเพิ่มขึ้น เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุด และสร้างโอกาสดี ๆ ให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิสศา ตันติเฉลิม กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage