สมาคมเพื่อนโรคไตฯ เผยผลสุ่มตรวจโซเดียมในอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง 53 ตัวอย่าง แนะผู้บริโภคอ่านฉลากก่อนซื้อ เลี่ยงภาวะไตวาย ขณะที่แพทย์เผยคนไทยกินเค็มเกินความต้องการเกือบ 2 เท่า
...........................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานแถลง ‘สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เตือนอ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย’ ณ ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1.เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย 2.เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็นแช่แข็ง และ 3.เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย
น.ส.ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน อาหารกลุ่มนี้จัดอยู่ในประเภทอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 305 ของ พ.ศ. 2550 และต้องแสดงคำแนะนำ เช่น บริโภคแต่น้อย และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้จากการเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. - 18 ธ.ค. 2563 โดยซื้อจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 53 ตัวอย่าง โดยจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน จำนวน 35 ตัวอย่าง อาทิ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450–1,390 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 2.กลุ่มอาหารอ่อน จำนวน 15 ตัวอย่าง อาทิ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380–1,340 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และ 3.กลุ่มขนมหวาน จำนวน 3 ตัวอย่าง อาทิ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210–230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลสำรวจคนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่างๆ
และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลที่ตรงกันว่า คนไทยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น
“การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ อีกทั้งในปัจจุบัน ยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (Food Choice) ซึ่งเป็นแอปที่ผู้บริโภคสามารถสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่จะรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจในการเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน
พร้อมกล่าวอีกว่า ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค