แอมเนสตี้แถลงกรณีการลงโทษจำคุก 87 ปีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การลงโทษจำคุก ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นอัตราโทษสูงสุดที่เคยมีมาในประเทศไทย
......................................
สำนักข่าวอิศรา รายงานในกรณี แอมเนสตี้แถลงกรณีการลงโทษจำคุก 87 ปีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สืบเนื่องจากการที่ศาลไทยสั่งลงโทษจำคุกสูงถึง 87 ปี ต่ออัญชัญ ปรีเลิศ หลังพบว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าคดีที่น่าตกใจเช่นนี้ นับเป็นการโจมตีอย่างร้ายแรงอีกครั้งต่อพื้นที่ของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ที่กำลังหดหายไปในประเทศไทย
“จำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของทางการไทยที่จะปิดปากผู้เห็นต่าง บทลงโทษที่รุนแรงอย่างมากในวันนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว และแสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
“การหมิ่นประมาทไม่ควรนำไปสู่การลงโทษอาญาอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นการจำคุกเป็นเวลานานมาก ดังเช่นคำตัดสินในวันนี้
“อัญชัญได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อปี 2558 รวมทั้งการถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาเป็นเวลาหลายปี โดยในบางช่วงมีการห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกด้วย
“ลักษณะการกำหนดโทษยังเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เนื่องจากทางการพยายามลงโทษให้หนักสุด โดยการคูณจำนวนกรรมของการกระทำความผิดกับโทษจำคุกแต่ละกรรม ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเป็นการป้องปราม ข่มขู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 50 ล้านคนในประเทศไทย
“ทางการไทยต้องยุติการปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ รัฐบาลต้องยกเลิกหรือแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ทั้งในชีวิตจริงและในพื้นที่ออนไลน์ รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการตัดสินวันนี้”
ข้อมูลพื้นฐาน
อัญชัญ ปรีเลิศ อายุ 63 ปี ผู้ขายอาหารและอดีตข้าราชการ ถูกลงโทษในความผิด 29 กรรม ฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ของไทย เธอถูกจับเมื่อเดือนม.ค. 2558 และถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสี่ปี จนกระทั่งเดือนพ.ย. 2561 จึงได้รับการประกันตัวออกมา
ในช่วงแรก อัญชัญถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกในค่ายทหารเป็นเวลาห้าวัน ก่อนจะถูกส่งตัวไปคุมขังในสถานที่ควบคุมตัว และถูกปฏิเสธคำขอประกันตัวมาตลอด
ศาลเห็นว่าอัญชัญมีความผิดฐานแชร์และอัพโหลดคลิปวีดิโอผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นคลิปรายการพูดทางออนไลน์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
อัญชัญรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และได้รับโทษจำคุกกรรมละสามปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้ง 29 กรรม หรือรวมกัน 87 ปี นับเป็นบทลงโทษรุนแรงสุดตามมาตรา 112 จนถึงปัจจุบัน ศาลได้ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 43ปี ครึ่ง เนื่องจากคำให้การรับสารภาพของอัญชัญ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญากำหนดระวางโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี
ท่ามกลางการประท้วงอย่างสงบที่เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2563 ทางการไทยได้เริ่มกลับมาใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือนพ.ย.ในปีที่แล้ว หลังจากไม่มีการแจ้งข้อหาตามกฎหมายนี้มาตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561
มีบุคคลกว่า 220 คนรวมทั้งเยาวชน ที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอย่างสงบตลอดทั้งปี 2563 โดยในจำนวนนี้ มีอยู่หลายสิบคนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก ตามข้อ 19 ของกติกา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นหน่วยงานตามสนธิสัญญา และรับผิดชอบการตีความกติกา ICCPR ได้กล่าวว่า “การจำคุกไม่ควรเป็นการลงโทษที่เหมาะสม” ของความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ