ศาลยุติธรรม ยกระดับดูแลพยานคดีอาญา ตามนโยบายประธานศาลฎีกา จัดห้องพัก-ที่จอดรถเป็นสัดส่วน ลดการเผชิญหน้า พยานเด็กต้องแยกห้อง ไม่นัดเวลาเผื่อให้รอนาน ศาลแจ้งสิทธิพยานงดตอบได้ หากเจอคำถามข่มขู่หรือหมิ่นประมาท
.............................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า คณะทำงานส่งเสริม ดุลยภาพแห่งสิทธิ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น สำนักประธานศาลฎีกา ได้เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานบุคคลในคดีอาญา สำหรับศาลชั้นต้นทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอันเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเพิ่มการดูแลเอื้อเฟื้อต่อพยาน ตามนโยบายของ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับเรื่องสมดุล สร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ โดยแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานบุคคลในคดีอาญานั้นได้กำหนดรายละเอียดกำกับไว้ 5 ด้าน ดังนี้
1.ด้านสถานที่ และมาตรการความปลอดภัย อำนวยความสะดวกจัดที่จอดรถแก่พยาน , ให้มีที่พักพยานเป็นสัดส่วน , กรณีพยานเป็นเด็ก ห้องพักพยานต้องแยกต่างหากจากพยานทั่วไป
2.ด้านบุคลากร จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานพยานทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบก่อนวันนัด
3.ด้านการออกหมายเรียกพยาน หมายเรียกนั้นควรกำหนดให้พยานมาศาลในช่วงลำดับเวลาที่พยานจะเข้าเบิกความโดยไม่ให้พยานต้องมารอนานเกินสมควร และควรกำหนดช่วงเวลาที่พยานแต่ละปากจะเข้าเบิกความให้เหมาะสมกับภารกิจหรือสถานะของพยาน
4.ด้านการจัดระบบประสานงานพยาน จัดให้มีศูนย์ประสานงานพยาน มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลและประสานงานติดต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาคดี
5.ด้านการมาศาล การเบิกความของพยาน การจ่ายค่าพาหนะ ค่าป่วยการ และค่าเช่าที่พัก เมื่อพยานมาศาลให้เจ้าหน้าที่ศาลพาพยานรอในห้องพักจนกว่าจะถึงเวลาเบิกความ เพื่อลดการเผชิญหน้าและเพื่อความปลอดภัย
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานบุคคลในคดีอาญาสำหรับศาลชั้นต้นทั่วประเทศนี้ เป็นการระบุข้อที่ควรปฏิบัติและต้องปฏิบัติไว้ให้เห็นชัดเจน และเป็นการแจ้งสิทธิบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ทราบก่อน พร้อมแนะว่าเมื่อได้รับหมายเรียกเป็นพยานศาลควรตรวจสอบความถูกต้องของชื่อ-สกุล และตรวจดูวัน-เวลา กับเรื่องที่นัดแล้วไปให้ตรงตามวันนัด หากมีเหตุขัดข้องไปศาลตามวัน-เวลานัดไม่ได้ ก็ให้แจ้งไปยังศาลนั้นก่อนถึงวันนัด ซึ่งตามกฎหมายบุคคลใดที่ได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานศาลแล้วจงใจไม่ไปศาล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยในการมาเบิกความ เมื่อถึงเวลาเบิกความให้ตอบคำถามด้วยถ้อยคำตามความเป็นจริงที่ได้รู้ ได้เห็น หรือได้ยินโดยตรงเท่านั้น เพราะหากเบิกความเท็จจะมีความผิดได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งหากเป็นการเบิกความเท็จคดีแพ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการเบิกความเท็จคดีอาญา ระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 140,000 บาท
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก ศาลยุติธรรม