ประธาน กสม. เผยรายละเอียดการสัมภาษณ์ในกระบวนการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ย้ำสถาบันสิทธิมนุษยชนฯของไทยสอดคล้องกับหลักการปารีสโดยสมบูรณ์
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ตนในฐานะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อประกอบการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance for National Human Rights Institutions: GANHRI) โดยคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจาก 4 ภูมิภาค จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา โมร็อกโก ปาเลสไตน์ และฝรั่งเศส เพื่อยืนยันว่า ปัจจุบัน กสม. มีความสอดคล้องกับหลักการปารีสโดยสมบูรณ์แล้ว
นางประกายรัตน์ แจ้งว่า ตนได้อธิบายคณะอนุกรรมการ SCA ให้ทราบว่า ตามที่เคยมีข้อสรุปของคณะอนุกรรมการ SCA เมื่อปลายปี 2558 ว่า กสม. ยังไม่มีความสอดคล้องกับหลักการปารีสอย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) กระบวนการสรรหาและการแต่งตั้ง กสม. ที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง (2) การขาดความคุ้มกันทางกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประกันความเป็นอิสระของ กสม. ในบทบัญญัติของกฎหมาย และ (3) ความล่าช้าในการจัดทำรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีเกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง จึงทำให้ กสม. ถูกลดสถานะจากสถานะ A เป็น B นั้น ปัจจุบัน ได้มีการแก้ไขโดยกฎหมายครบถ้วนแล้ว กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนภาคประชาสังคมในขั้นตอนการสรรหาและแต่งตั้ง มีการบัญญัติให้ กสม. ได้รับความคุ้มกันทางกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง และการมีบทบัญญัติกำหนดขั้นตอนและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนสำหรับการจัดทำรายงานประเภทต่าง ๆ ของ กสม. เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าในการจัดทำรายงาน
ทั้งนี้ ในการสัมภาษณ์ดังกล่าว คณะอนุกรรมการ SCA ได้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหลายประการ ทั้งในด้านกฎหมายและการปฏิบัติตามบทบัญญัติ ตัวอย่างเช่น ได้มีการสอบถามถึงการดำเนินการตามมาตรา 26 (4) ของ พรป. กสม. พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ กสม. ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งตนได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า บทบัญญัติข้อดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบใดต่อความเป็นอิสระของ กสม. เพราะ กสม. สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างเต็มที่ว่าจะชี้แจงรายงานนั้น ๆ หรือไม่ และในประเด็นใด โดยไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้ามากดดันหรือแทรกแซงการดำเนินการ อีกทั้ง กสม. ยังมีความคุ้มกันทางกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้ดุลพินิจด้วย หรือในกรณีที่มีข้อสอบถามถึงประสิทธิภาพในการจัดทำรายงานการตรวจสอบการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตนได้ชี้แจงว่า การจัดการเรื่องร้องเรียนในอดีต มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้า เช่น หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนไม่มาชี้แจง และในระบบเดิมมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เพิ่มขั้นตอนกระบวนการพิจารณา ทำให้เกิดความล่าช้า เมื่อกฎหมายใหม่ คือ พรป. กสม. พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ กสม. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้เท่าที่จำเป็น ส่งผลให้การตรวจสอบมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบัน สามารถสะสางเรื่องร้องเรียนที่คงค้างอยู่ได้มากกว่าร้อยละ 80 จากที่มีอยู่เดิม 2,000 กว่าคำร้อง นอกจากนี้ การมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ กสม. ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบร่วมกันเป็นองค์คณะนั้น ก็เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะกึ่งตุลาการ (quasi-judicial) ไปในทางมิชอบ แต่ กสม. แต่ละท่านก็มีอิสระที่จะให้ความเห็นใด ๆได้ ยกเว้นกรณีที่เป็นข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ร้องเรียน และข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
นางประกายรัตน์ กล่าวต่อไปด้วยว่า คณะอนุกรรมการ SCA ยังได้สนใจสอบถามการดำเนินการของ กสม. ในสถานการณ์ที่มีความท้าทาย เช่น ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งตนได้ชี้แจงว่า กสม. ได้ดำเนินการครอบคลุมอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง (monitoring) การคุ้มครอง (protection) และการส่งเสริม (promotion) ในการสร้างความตระหนักให้แก่ภาครัฐและสังคมในการเคารพสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งได้ยกตัวอย่างการดำเนินงานที่ผ่านมาให้คณะกรรมการได้รับทราบอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนรูปแบบการดำเนินงานของ กสม. ที่ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมได้หลากหลายกว่าเดิม เช่น การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้คำปรึกษาหรือข้อคิดเห็นต่อ กสม. การจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานเครือข่ายภูมิภาค ที่ประกอบด้วย กสม. นักวิชาการของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ และผู้แทนภาคประชาสังคมในภูมิภาค เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนและแก้ไขปัญหาในแต่ละภูมิภาคได้อย่างตรงจุด เป็นต้น รวมถึงการริเริ่มให้มีการจัดตั้งสำนักงานในภูมิภาคที่จะเริ่มเป็นแห่งแรกใน จ.สงขลา ดูแลเขตพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้ประชาชนในภูมิภาคได้สามารถเข้าถึง กสม. ได้สะดวกมากขึ้น และยังมีการออกระเบียบประกันว่า การจ้างลูกจ้างของ กสม. นั้น จะคำนึงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและภาษา
“ตนมั่นใจว่า การดำเนินงานของ กสม. นั้น ได้สะท้อนความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษชนสำหรับทุกคนในประเทศ และกฎหมายก็ได้ประกันให้ กสม. สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระ การที่มีข้อห่วงกังวลหรือข้อกล่าวหาจากองค์กรเอกชนนั้น กสม. ได้เคยชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ต่อคณะอนุกรรมการ SCA ไปอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งในด้านกฎหมายและการปฏิบัติ โดยเน้นย้ำว่า การปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องมีความเป็นกลางตามหลักการปารีสด้วย และช่วงท้ายในการสัมภาษณ์ ตนยังได้มีข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการ SCA เพื่อสนับสนุนให้ กสม. สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีอำนาจตามกฎหมายในการไกล่เกลี่ย หรือการเป็นกลไกระดับชาติในการเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยง (National Preventive Mechanism: NPM) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีความมั่นใจว่า ประเทศไทยมีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีความเป็นอิสระ มีหน้าที่และอำนาจอย่างกว้างขวาง ที่จะอำนวยการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล” ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน กสม. กล่าว