อาจารย์ ม.หอการค้าไทย เผยผลศึกษา 'บูมเมอแรงคิดส์' พบคนไทย 1 ใน 3 หรือ 32-34% มีแนวโน้มกลับไปอยู่อาศัยกับ ‘พ่อแม่’ มากขึ้นหลังมีลูกแล้ว ระบุส่งผลบวกต่อเข้าการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิง แนะรัฐหนุนนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น
....................
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยในงาน ‘PIER Research Brief’ เรื่อง ‘บูมเมอแรงคิดส์? เมื่อลูกย้ายกลับเข้าบ้าน’ ซึ่งศึกษาร่วมกับ Ms. Lusi Liao ว่า หลังการมีลูก พบว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยกับพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง ทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานและเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานผู้หญิง
“ปรากฏการณ์ที่คนมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน มีชื่อเรียกว่า ปรากฏการณ์ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ (Boomerang Kids) ในกรณีของประเทศไทยพบว่า ภายหลังจากการมีลูก คนไทยมีโอกาสที่จะย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ตนเองหรือฝ่ายสามีมากขึ้นถึง 32-34%” ผศ.ดร.ศศิวิมลกล่าว
ผลศึกษายังพบว่า การอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ส่งผลทางบวกนั้นต่อแรงงานผู้หญิง โดยเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึง 21% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยร่วมกับพ่อแม่ ทั้งยังช่วยเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานอีกประมาณ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งการอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่นั้นทำให้ผู้หญิงได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการแบ่งเบาภาระงานบ้าน ทำให้มีเวลาในการเข้าร่วมตลาดแรงงานมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในมิติของระดับการศึกษาพบว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจะได้รับผลกระทบทางบวกจากการอยู่ร่วมกับพ่อแม่มากที่สุด โดยเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึง 28% และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่การอยู่ร่วมกันกลับไม่มีผลต่อโอกาสในการเข้าร่วมตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการศึกษาที่สูงทำให้ผู้หญิงมีรายได้มากเพียงพอที่จะสามารถจ่ายค่าสถานเลี้ยงดูเด็กได้ จึงทำให้มีภาวะการพึ่งพิงพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานค่อนข้างน้อย
ผศ.ดร.ศศิวิมล ระบุด้วยว่า ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อแรงงานผู้หญิงไทย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม ทำให้ผู้หญิงไทยที่อยู่ในตลาดแรงงานยังต้องพึ่งพิงพ่อแม่ ดังนั้น หากต้องการเพิ่มการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเลี้ยงดูบุตร และสนับสนุนเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น
"มาตรการช่วยเหลือจะต้องมีมิติที่กว้างและครอบคลุมมากกว่าการให้เพียงเงินอุดหนุน เช่น การเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว และนโยบายสนับสนุนการอยู่อาศัยร่วมกันหรือการอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ เป็นต้น"ผศ.ดร.ศศิวิมลกล่าว
ทั้งนี้ การศึกษากรณี ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ดังกล่าว ใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage