ราชกิจจานุเบกษาแพร่ คำแนะนำของ ปธ.ศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา พ.ศ. 2563 ให้ทุกขั้นตอนสอดคล้องกับหลักการตาม รธน.-มาตรฐานองค์การสหประชาชาติ ผู้พิพากษามีหน้าที่รับฟังความเห็น-ข้อกังวลของผู้เสียหายด้วยความเมตตา-ปราศจากอคติ คดีทางเพศ-รุนแรงในครอบครัว ระวังไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ต้องหา-ผู้เสียหาย-พยาน การกำหนดโทษต้องรับฟังความเห็น-คำนึงถึงผลกระทบ
.............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา พ.ศ. 2563 ลงนามโดยนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา โดยระบุสาระสำคัญคือ เป็นการสมควรให้กระบวนการทางศาลในทุกขั้นตอนมีการปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเหยื่ออาชญากรรมอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ และมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติหน้าที่เหมาะสมต่อผู้เสียหาย
เนื้อหาโดยสรุปคือ ข้อ 1 ศาลพึงปฏิบัติต่อผู้เสียหายด้วยความเข้าใจและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของบุคคล ตลอดจนความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกาย จิตใจ ฐานะ สถานภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของผู้เสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาทางศาล
ข้อ 2 ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาล พึงรับฟังความคิดเห็นหรือความกังวลใจของผู้เสียหายด้วยความเมตตาและเข้าใจ และด้วยความเป็นกลางปราศจากอคติที่มีต่อทุกฝ่ายในคดี
ข้อ 3 เมื่อเห็นเป็นเหตุจำเป็น ศาลอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลจัดทำข้อมูลประวัติของผู้เสียหาย ผลกระทบ หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหาย ความคิดเห็น หรือความกังวลใจของผู้เสียหายตลอดจนพฤติการณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้องซึ่งศาลเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคดี
กรณีผู้เสียหายร้องขอคุ้มครองความปลอดภัย ให้ดำเนินการตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการคุ้มครองและค่าตอบแทนพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2548 หรือศาลอาจมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลดำเนินการตามความเหมาะสม
ข้อ 5 คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ คดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว คดีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กหรือเยาวชน หรือคดีที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหรือสังคม ศาลพึงระมัดระวังไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ต้องหาหรือจำเลย กับผู้เสียหายและพยาน โดยจัดห้องพักผู้เสียหายและพยานเหล่านั้นแยกต่างหากจากห้องพักพยานทั่วไป รวมถึงอาจจัดให้มีการสืบพยานผ่านระบบการประชุมทางจอภาพหรือสืบพยานแบบไม่เผชิญหน้าเท่าที่ไม่ขัดแย้งต่อกฎหมาย
ส่วนหมวดการพิพากษาคดี ข้อ 10 ในการกำหนดโทษ ศาลพึงรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายประกอบด้วยเสมอ ในกรณีที่จะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลย หากผู้เสียหายยังไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พึงกำหนดให้การขวนขวายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงื่อนไขในการคุมความประพฤติจำเลยด้วย และอาจวางเงื่อนไขให้จำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายด้วยก็ได้
ส่วนหมวดการบังคับค่าสินไหมทดแทน ข้อ 12 กรณีที่มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและจำเป็นต้องมีการบังคับคดี ให้เจ้าหน้าที่ศาลให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้เสียหายในการดำเนินการเพื่อบังคับคดี รวมทั้งการประสานงานแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหายหรือขอข้อมูลจากองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยหรือบังคับคดีโดยวิธีการอื่นต่อไป
อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/092/T_0316.PDF
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage