สปสช.เขต 13 กทม. ร่อนหนังสือแจ้งโรงพยาบาล คลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข ย้ำประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ โดยหน่วยบริการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระบบที่กำหนด พร้อมให้ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำใหม่ไปแล้ว แต่อยู่ไกลเดินทางไม่สะดวก สามารถเข้ารับบริการได้ทุกแห่ง
....................................
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 สปสช. เขต 13 กทม. ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลและผู้ประกอบการคลินิกชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ กทม. รวมถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม
เรื่องการให้บริการผู้ป่วยกรณีที่ สปสช.ยกเลิกการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ โดยระบุว่า ตามที่ สปสช.ได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการไปเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้สถานพยาบาลเหล่านั้นสิ้นสุดสภาพการเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2563 และ 1 ต.ค. 2563 ทำให้ประชาชนที่มีหน่วยบริการประจำที่โรงพยาบาลและคลินิกเหล่านั้นไม่สามารถเข้ารับบริการที่เดิมได้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารับบริการสาธารณสุข สปสช.จึงขอชี้แจงแนวทางการให้บริการผู้ป่วย โดย สปสช.ได้ปรับปรุงสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน (สิทธิว่าง) ซึ่งสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองได้ทุกแห่ง โดยหน่วยบริการที่ให้การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้สามารถส่งข้อมูลเพื่อขอรับค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้ โดยที่ยังไม่ต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำและขอ Claim code หรือรหัสที่ใช้อ้างอิงในการเบิกจ่ายกับ สปสช.สำหรับผู้ใช้สิทธิว่าง
นอกจากนี้ ในกรณีที่หน่วยบริการประจำไม่มีหนังสือส่งตัว รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยบางรายได้เลือกหน่วยบริการประจำแห่งใหม่แล้ว แต่หน่วยบริการอยู่ไกล ทำให้ไม่สะดวกไปรับบริการ เบื้องต้นสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ได้ทุกแห่ง โดยหน่วยบริการที่ให้การดูแลรักษา สามารถบันทึกข้อมูลผ่านระบบ OPBKK CLAIM หรือระบบข้อมูลผู้ป่วยนอก กทม. เพื่อขอรับค่าใช้จ่ายได้ โดยถือว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และได้รับชดเชยค่าบริการจากกองทุนผู้ป่วยนอก กรณีป่วยฉุกเฉินใน กทม.
ทพ.อรรถพร ระบุด้วยว่า ในกรณีของผู้ป่วยใน ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการรับส่งต่อในพื้นที่ กทม. ได้ทุกแห่ง โดยหน่วยบริการที่ให้การดูแลรักษาสามารถบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Claim หรือโปรแกรมที่ใช้เบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์เพื่อขอรับค่าใช้จ่ายโดยถือว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและได้รับชดเชยค่าบริการจากกองทุนผู้ป่วยในระดับเขต
ทั้งนี้ ในกรณีการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการใน กทม. ทุกแห่ง หน่วยบริการบันทึกข้อมูลผ่านระบบ BPPDS หรือโปรแกรมสำหรับงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ กทม. และได้รับการชดเชยค่าบริการตามหลักเกณฑ์ปกติ