ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ ตีความการรับฟัง ‘พยานบอกเล่า’ ด้วยความระมัดระวัง-ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนัก ตาม ป.วิอาญาฯ ม.226/3 ม.227 ม.227/1 ไม่ขัดหรือแย้งต่อ รธน. ไม่ขัดหลักนิติธรรม ไม่ได้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีความผิด
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว (Press Release) ระบุถึง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง กรณีศาลแขวงพระนครใต้ ส่งคำโต้แย้งของจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 มาตรา 227 และ มาตรา 227/1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 และมาตรา 29 วรรคสอง หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ที่บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือมีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นพยานโดยตรงมาเป็นพยานได้ มาตรา 227 บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน โดยให้ลงโทษได้เฉพาะกรณีที่แน่ใจว่าจำเลยกระทำผิดจริง และมาตรา 227/1 ที่บัญญัติให้ศาลชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่าด้วยความระมัดระวังนั้น ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล โดยใช้บังคับแก่คู่ความทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่เป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิด จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 และมาตรา 29 วรรคสอง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage