สปสช.ย้ำประชาชน “สิทธิบัตรทอง” ยังอยู่ เป็นการเพิกถอนคลินิก-รพ.ทำหลักฐานเบิกเท็จ ระบุกระทบเฉพาะพื้นที่ กทม. ส่วน 76 จังหวัด ระบบบริการปกติ พร้อมเผยความคืบหน้าดูแลประชาชน 8 แสนคน รับผลกระทบ มีเพียง 30% ที่เจ็บป่วย เตรียมประชุมหน่วยบริการพื้นที่ กทม. ชี้แจงมาตรการรองรับ
.............................
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) - ในการแถลงข่าว "สปสช.แจงยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-โรงพยาบาลเอกชน ด้วยเหตุทุจริต ย้ำสิทธิบัตรทองยังคงอยู่ มีมาตรการรองรับ-บรรเทาผลกระทบ” นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ก่อนอื่นชี้แจงว่าอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีความเป็นอิสระ ไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือถูกครอบงำจาก สปสช. ซึ่งการตรวจสอบมีความจำเป็นต้องทำโดยละเอียด เพราะเป็นการปกป้องประชาชนผู้มีสิทธิ์ รักษาผลประโยชน์ของรัฐและภาษีของประชาชน ทั้งไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นการดูจากหลักฐานที่ปรากฏ ไม่มีการกลั่นแกล้งใคร ซึ่งพบว่ามีความจงใจสร้างเอกสารเท็จเพื่อเบิกจ่าย เริ่มจากคลินิก 18 แห่ง ขยายผล 64 แห่ง และตรวจพบอีก 106 แห่ง ที่เป็นความผิดทางอาญา ทำให้ สปสช.ต้องร้องทุกข์ดำเนินคดีและต้องเพิกถอนสัญญา ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาคลินิก ไม่กระทบสิทธิของประชาชนในการรักษา โดยประชาชนยังคงเป็นผู้มีสิทธิบัตรทองอยู่
จากการตรวจสอบครบ 189 แห่ง มีเพียงแห่งเดียวที่ดำเนินการถูกต้อง โดยคลินิกอีก 188 แห่ง พบความผิดปกติ ใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องในการเบิกจ่าย สปสช. อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งการตรวจสอบนี้ยังเป็นเพียงหนึ่งในรายการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 18 รายการ และเป็นข้อมูลเฉพาะในปีงบประมาณ 2562 เท่านั้น หากถูกต้องจะต้องขยายตรวจสอบย้อนหลังปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีการทุจริตปีละเท่าไหร่ และ สปสช. ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายเท่าไหร่ ไม่ใช่ปล่อยให้มาสูบผลประโยชน์จากกองทุนบัตรทอง ซึ่งขอย้ำว่าการตรวจสอบจำเป็นต้องทำ เพราะประชาชนกำลังถูกแอบอ้างนำข้อมูลไปเบิกจ่าย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ต้องขออภัยประชาชนที่ประสบปัญหาการเข้ารับบริการในระหว่างที่ สปสช. กำลังเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่ง สปสช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ นอกจากการดำเนินการทางกฎหมายกับหน่วยบริการที่ทำผิดจนถึงที่สุดแล้ว ในส่วนที่เกิดผลกระทบกับประชาชน สปสช.ได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมากอาจทำให้ระบบรองรับไม่เพียงพอ เบื้องต้นขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 แสนคน ในคลินิก 18 แห่งที่ถูกเพิกถอนสัญญา สปสช. ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่แล้ว ส่วนอีก 8 แสนคน ในหน่วยบริการ 64 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 ส่วน ดังนี้ คือ
1.กลุ่มผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนัดผ่าตัด ผู้ป่วยล้างไต หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สปสช.มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนและได้มีการโทรประสานไปยังผู้ป่วยโดยตรงแล้ว เพื่อให้สามารถเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง แต่ด้วยในกรณีที่ขัดข้อง ไม่ได้รับการติดต่อจาก สปสช. ขอให้ส่งข้อความผ่าน Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.จะติดต่อกลับโดยเร็ว
2.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับการดูแลต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันสูง เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สปสช.ได้ประชุมร่วมกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในระยะสั้นก่อนระหว่างรอหน่วยบริการใหม่ เบื้องต้นผู้ป่วยเรื้อรังที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 37 แห่ง ของกรุงเทพมหานครได้ โดย สปสช.ได้ส่งข้อมูลให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 19 แห่งแล้ว
3.กลุ่มผู้ป่วยทั่วไป ขณะนี้กำหนดสถานะเป็นสิทธิว่างที่เหมือนเป็นวีซ่าพิเศษ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการบัตรทองที่ใดก็ได้ เป็นการอำนวยความสะดวนในการรับบริการผู้ป่วยนอก หน่วยบริการจะเรียกเก็บค่าบริการมาที่ สปสช. โดยได้ทำการแจ้งยังหน่วยบริการเครือข่ายแล้ว
“ย้ำว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการดำเนินการเฉพาะหน่วยบริการที่กระทำผิดเบิกเท็จเท่านั้น หน่วยบริการอื่นยังคงบริการตามปกติ ทั้งยังจำกัดเฉพาะพื้นที่ กทม. ไม่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอื่น ซึ่งประชาชนอีกกว่า 76 จังหวัด ไม่ต้องกังวลและสามารถรับบริการปกติเช่นเดิม” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประชาชน 8 แสนคนที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนสัญญาคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน 64 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 30% ที่เจ็บป่วยและต้องมีมาตรการรองรับโดยเร็ว โดย สปสช.อยู่ระหว่างประสานงานและเพิ่มหน่วยบริการรองรับโดยเร็ว โดย สปสช. เขต 13 กทม.ได้เชิญหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. มาชี้แจงแนวทางเพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี อาทิ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ กรมการแพทย์ทหารเรือ กรมการแพทย์ทหาร กรมการแพทย์ทหารอากาศ โรงเรียนแพทย์ เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบและ สปสช. ได้วางมาตรการรองรับแล้ว มีดังนี้
1.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 2,166 ราย รับบริการต่อเนื่องที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 37 แห่ง รพ.สำนักการแพทย์ 8 แห่ง รพ.รัฐทุกแห่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ และ รพ.แพทย์ปัญญา
2.ผู้ป่วยไต 295 ราย ให้ รพ.ยกเลิกสัญญาส่งผู้ป่วยไปรับบริการต่อยังหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เป็นการชั่วคราว
3.ผู้ป่วยที่นัดผ่าตัด 132 ราย สปสช. ได้ประสานกับ รพ.ในระบบบัตรทอง และได้ประสานกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
4.หญิงตั้งครรภ์ 5,000 คน ประสานโรงพยาบาลเพื่อดูคิวบริการ และนัดวันทำคลอด
5.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ตามเขตพื้นที่
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องรับการล้างไต โทรสอบถามมายังสมาคมฯ ซึ่งมีบางส่วนที่เข้าใจข้อมูลผิดว่าบัตรทองถูกยกเลิก ไม่สามารถใช้สิทธิได้ จึงต้องยืนยันที่นี่ว่า การยกเลิกบริการเป็นการยกเลิกเฉพาะหน่วยบริการที่ สปสช.ยกเลิกสัญญาเพราะมีการทำหลักฐานเท็จเบิกจ่ายค่าบริการ แต่สิทธิบัตรทองยังอยู่ ไม่ได้ยกเลิก ดังนั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถประสานกับ สปสช. เพื่อขอรับบริการต่อเนื่องได้ นอกจากนี้จากผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นในกรณีคลินิก 18 แห่ง ทางเครือข่ายผู้ป่วยจึงมีการจัดทำแนวทางรองรับเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล เพราะเราเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่อง โดยได้ประสานกับ สปสช. มาตลอด ยืนยันว่าการดำเนินการของ สปสช. ครั้งนี้เป็นการทำที่ถูกต้อง เพราะเป็นการดำเนินการกับคลินิกที่ให้บริการประชาชนไม่ตรงไปตรงมา