อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ สบส. สปสช. แถลงความคืบหน้า “กรณีคลินิกเอกชนทุจริตงบบัตรทอง” พบเพิ่ม 106 แห่ง รวม 189 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 198 ล้านบาท เตรียมรวบรวมหลักฐานแจ้งความเพิ่มเติม พร้อมเร่งเอาผิดคลินิกทันตกรรม 3 แห่ง ทำเบิกเกินจริงสูงถึง 60 ล้านบาท พร้อมขอความเป็นธรรม สปสช. กรณีถูก รพ. ร้องเรียนนายกฯ ชะลอเบิกจ่ายค่าบริการ เหตุกองทุนบัตรทองถูกละเมิดใช้หลักฐานเท็จเบิกค่าบริการก่อน
---------------------------
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการแถลงข่าว "สปสช.ชี้แจงเหตุชะลอจ่ายเงินโรงพยาบาลเอกชน กรณีตรวจสอบพบการทุจริตเบิกจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค กองทุนบัตรทอง”
นายนิมิตร์ เทียนอุดม อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอันเป็นเท็จ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีที่โรงพยาบาลเอกชนเข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีขอความเป็นธรรมการชะลอเบิกจ่ายค่าบริการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) เรื่องนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และประชาชนต้องขอความเป็นธรรมเช่นกัน เพราะสาเหตุการชะลอเงินเบิกจ่ายค่าบริการที่เกิดขึ้น เป็นเพราะระบบและ สปสช. ถูกละเมิดเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเบาหวานความดันก่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สปสช. ที่ต้องปกป้องและดูแลภาษีประชาชนในส่วนนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในสัญญาระหว่างกองทุนบัตรทองและหน่วยบริการที่ระบุให้ สปสช. สามารถดำเนินการได้ หากมีกรณีที่เกิดปัญหาการบริการและต้องตรวจสอบ เรื่องนี้ สปสช. ไม่ได้กระทำโดยพลการ
ทั้งการชะลอการเบิกจ่ายยังเป็นมาตรการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินที่คลินิกเอกชนเบิกโกงไปนั้น กองทุนบัตรทองต้องได้คืนกลับมา เพราะหากปล่อยให้คลินิกที่พบหลักฐานเบิกจ่ายปกติแล้วผู้ทุจริตหนีไป หรือต้องรอฟ้องร้องเรียกคืนภายหลัง ความเสียหายก็จะเกิดกับระบบและประชาชน ดังนั้นเรื่องนี้ต้องขอความเป็นธรรม หาก สปสช. ไม่ชะลอการเบิกจ่ายและยังคงจ่ายเงินเป็นปกติ ตนในฐานะบอร์ด สปสช. ก็ต้องเล่นงาน สปสช. เช่นกัน นอกจากนี้ในการพิจารณาของอนุกรรมการทุกชุดที่เกี่ยวข้อง ต่างเห็นตรงกันว่ากรณีการเบิกจ่ายเงินต้องรอการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแล้ว โดยการตรวจสอบเอกสารเบิกจ่ายดำเนินการแล้วประมาณ 90% และขอย้ำว่า กรณีที่เป็นการทุจริตคลินิกจะต้องถูกเรียกเงินคืน แต่ในกรณีการเบิกจ่ายถูกต้อง คลินิกจะได้รับเงินเบิกจ่ายค่าบริการแน่นอน ทั้งหมดอยู่บนเอกสารหลักฐานที่ตรวจสอบได้
นายนิมิตร์ กล่าวว่า มีตัวอย่างกรณีของโรงพยาบาลแห่งเดียว ส่งเบิกจ่ายค่าบริการ 15,000 ฉบับ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นการเบิกโดยไม่มีเวชระเบียนถึง 8,200 ฉบับ และในส่วนการเบิกมีเวชระเบียน 5,600 ฉบับ มีการเบิกจ่ายที่ถูกต้องเพียง 1,800 ฉบับ ที่เหลืออีก 3,000 ฉบับมีปัญหาเอกสารหลักฐาน นับเป็นวงเงินเบิกจ่ายที่สูงมาก จำเป็นที่ต้องมีการชะลอการเบิกจ่ายทั้งหมดเพื่อตรวจสอบก่อน หากถูกต้องก็จะเบิกจ่ายให้แน่นอน ยืนยันว่าเป็นการทำทุกอย่างตามกระบวนการ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตั้งแต่มีกรณีนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ประสานกับ สปสช. โดยกรมสนับสนุนฯ ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจทุกคลินิกที่ สปสช.ส่งข้อมูลมา พร้อมเรียกผู้ดำเนินการคลินิกให้ข้อมูล เบื้องต้น 18 คลินิก คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบครบถ้วนและแจ้งความร้องทุกข์แล้ว โดยมีการปิดชั่วคราวแล้ว 2 แห่ง โดยมีคลินิกหลายแห่งขอปิดตัวเองเพิ่มเติม แต่เรายังไม่ให้ปิดเพราะต้องมีการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมอีก 17 ราย และย้อนหลังไปอีก 10 ปี เพื่อไม่ให้เอกสารหลักฐานหาย ส่วนคลินิกอีก 65 แห่ง กรมฯ ได้ดำเนินการแล้ว 55 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นคลินิกทันตกรรม 3 แห่ง ที่มีมูลค่าเบิกจ่ายสูงถึง 50-60 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลเพื่อแจ้งความต่อไป และเตรียมที่จะดำเนินการต่อในคลินิกอีก 106 แห่ง ตามที่ สปสช.ได้ประสานและเตรียมส่งข้อมูลเพิ่มเติม
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในส่วนของคลินิกทันตกรรม 3 แห่งที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพอยู่ระหว่างประมวลข้อมูลเพื่อแจ้งความเพิ่มเติม พบหลักฐานการเบิกจ่ายที่เกินจริง เช่น บริการเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กที่ปกติจะต้องทำที่ซี่ฟันกรามแต่ใบเบิกจ่ายกลับระบุเคลือบที่ฟันหน้า มีการอุดฟัน 8 ด้าน ทั้งที่ฟัน 1 ซี่มีเพียง 5 ด้าน และการอุดฟันหลายซี่ในเวลาที่จำกัดมาก โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งจากเอกสารการเบิกจ่ายจึงไม่น่าเชื่อว่าเป็นจริง พร้อมฝากเตือนเนื่องจากคลินิกทันตกรรม 1 ใน 3 แห่ง ได้มีการประกาศขายโอนกิจการในราคาถูกมาก ตรงนี้ไม่ใช่การปิดกิจการ เวชระเบียนผู้ป่วยจะต้องยังคงอยู่ ดังนั้นในการตรวจสอบค้นหาเอกสารผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องรับผิดชอบและดำเนินการต่อ
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีที่โรงพยาบาลเอกชนร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ยืนยันว่า สปสช. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งการยกเลิกคลินิกเป็นหน่วยบริการในระบบเนื่องจากมีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามสัญญา มีการสร้างเอกสารหลักฐานเท็จ สร้างความเสียหายต่อระบบและภาษีประชาชน ส่วนการชะลอจ่ายชดเชยค่าบริการ สปสช. เองก็มีอำนาจที่จะทำได้ ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการประเมินมูลหนี้และความเสียหายในการฟ้องร้องทางแพ่งกับคลนิกที่กระทำผิด และต้องถามว่าการขอความเป็นธรรมกรณี สปสช. ชะลอการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวเป็นรายได้บริการพึงรับ หรือเป็นรายได้ที่ไม่พึงรับหรือไม่ ทั้งนี้ต้องขอเวลา สปสช.ตรวจสอบก่อน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
“การชะลอการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ในการตรวจสอบคลินิกที่เบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเท็จ สปสช. ได้ชะลอการเบิกจ่ายทุกคลินิกที่พบใช้เอกสารหลักฐานเท็จเบิกจ่าย ทั้งการตรวจสอบรอบแรกจำนวน 18 แห่ง รอบ 2 อีกจำนวน 65 แห่ง และในคลินิกที่ล่าสุดได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 107 แห่งที่พบคลินิกกระทำผิดถึง 106 แห่ง มีคลินิกเพียงแห่งเดียวที่เบิกจ่ายถูกต้อง รวมเป็นคลินิกที่พบเอกสารหลักฐานเท็จทั้งหมด 189 แห่ง ในจำนวนนี้มีการเบิกจ่ายมูลค่าจำนวน 198 ล้านบาท เข้าเงื่อนไขเบิกจ่ายถูกต้องจำนวน 33 ล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องมีมูลค่าความเสียหายจำนวน 156 ล้านบาท” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว