ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ‘บิ๊กตู่’ เผยแก้ รธน.ต้องทำอย่างน้อย 2 ครั้ง ใช้เงินครั้งละ 4-5 พันล้านบาท ยันไม่ขัดชุมนุม 19 ก.ย. ลั่นเลอะเทอะ หลังถูกถามข่าวลือรัฐประหาร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ โดยเท่าที่รับฟังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงวันนี้พบว่า ไม่ว่าจะดำเนินการอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการออกเสีงประชามติ ปกติจะใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้มีสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด อาจจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านบาท อันนี้เป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องดำเนินการ ซึ่งกรณีร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีค่าใช้จ่ายอีก 1,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินการในส่วนของสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การทำประชามติแต่ละครั้งจะใช้เงินประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านบาท ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง จากนั้นถ้าสภาให้ความเห็นชอบก็ไม่จำเป็นต้องประชามติครั้งที่ 3 ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายการออกเสียงประชามติที่เพิ่มขึ้น มาจากการลดปริมาณผู้มาใช้สิทธิ์แต่ละหน่วยเลือกตั้งจากเดิมเฉลี่ย 1,000 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง ลดลงเหลือ 600 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ต้องมีการจัดหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินการเพิ่มขึ้น
“ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งคงจะประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านบาท ผมไม่ได้ว่าอะไร แค่เล่าให้ฟังเฉยๆ อย่ามาหาว่าผมไม่สนับสนุนก็แล้วกัน เพราถ้าไม่สนับสนุนก็คงไม่ทำกฎหมายประชามตินี้ออกมา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่คาดว่าจะทำให้เกิดขึ้น 1 ครั้งในปี 2563 คาดว่าจะใช้เงินอีกมาประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท ก็ยืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นส่วนหนึ่งในปีนี้ ส่วนที่เหลือก็ต้องรอไปก่อน เพราะทำพร้อมกันไม่ได้ เนื่องจากติดกฎหมายเรื่องเกี่ยวกับการเว้นระยะ 60 วัน ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการหลายอย่างด้วยกัน
พล.อ.ประยุทธ์ ยังบอกถึงกรณีที่มีการเปิดเผยการเตรียมกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับมือการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ว่า เรื่องการชุมนุม ใครพูดอะไรมา ใครที่เปิดเผยเอกสาร ก็ไปหาคนนั้น ตนก็ไม่ได้กำชับพิเศษ แต่ดูแลให้ปลอดภัย ซึ่งถือว่า เป็นการชุมนุมตามสิทธิ หากไม่รุนแรง
เมื่อถามถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ พุดตัดบทว่า “ไปกลับบ้านเลย เลอะเทอะ” ก่อนที่จะเดินออกจากจุดแถลงข่าวในทันที
ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... จะเป็นการดำเนินการคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ โดยที่ผ่านมาใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่า ด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
1) กำหนดให้การออกเสียงประชามติ มี 2 กรณี คือ 1.กรณีมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ครม.จะขอให้มีการออกเสียงในเรื่องที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อ รธน. หรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใด เพื่อให้มีข้อยุติ หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา 2.กรณีมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศมีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา
2) กำหนดให้การออกเสียงใช้วิธีลงคะแนนโดยตรงและลับ การออกเสียงจะถือว่ายุติก็ต่อเมื่อมีผู้ออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
3) กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องจัดทำประชามติ ต้องดำเนินการให้ข้อมูลการจัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างเพียงพอ
4) กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียง ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
5) กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ เช่น กำหนดโทษจำคุก 1 – 10 ปี ปรับ หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปี และกรณีศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดตามฐานความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ และเป็นผู้กระทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริต ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการออกเสียงในหน่วยนั้นด้วย
ทั้งนี้ หากมีการจัดการออกเสียงประชามติทั่วประเทศ อาจต้องใช้งประมาณราว 3,150.69 ล้านบาท และถ้ามีการใช้มาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิดควบคู่ไปด้วย อาจทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4,062.73 ล้านบาท ส่วนนี้เป็นงบประมาณเฉพาะในส่วนที่มีการจัดการให้ลงคะแนน ส่วนกรณีที่มีการลงมติ รธน.ที่จะต้องจัดพิมพ์รายละเอียดของร่าง รธน. เป็นเรื่องของรัฐสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบไป
โดยในลำดับต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป ส่วนการออกกฎหมายลำดับรอง มีจำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... จะดำเนินการหลังร่าง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้แล้ว 180 วัน
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการใช้สิทธิออกเสียง เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ในเรื่องสำคัญๆ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติม รธน. หรือเรื่องอื่นที่ ครม. ขอให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/