กรมพัฒนาที่ดินตั้งเป้าฟื้นฟูทรัพยากรดินกว่า 2 ล้านไร่ต่อปี ช่วยเกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
..............................
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การผลักดันเกษตรกรรมปลอดภัยเป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรกรรม 20 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินที่มีภารกิจหลักด้านการรักษา ปรับปรุง ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการผลิตอาหาร ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน จึงได้กำหนดนโยบายดำเนินการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีความมั่นคง พื้นที่ได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 2 ล้านไร่/ปี เกษตรกรได้รับการพัฒนา 6 แสนราย สำหรับแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายมีด้วยกัน 6 ด้าน
ได้แก่ 1.การกำหนดเขตการใช้ที่ดิน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับปลูกพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของดิน แบ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เหมาะสม (S1) กว่า 2 ล้านไร่ และปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3 และ N) ไม่น้อยกว่า 1 แสนไร่/ปี ภายใต้โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) 2.การบริหารจัดการเชิงพื้นที่เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง แบ่งเป็นมาตรการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำโดยการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานกว่า 5 แสนบ่อ และการรักษาความชื้นในดินด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ไม่น้อยกว่า 2 แสนไร่ และปลูกหญ้าแฝกกว่า 8 แสนไร่/ปี 3.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินและเสริมสร้างอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ดินที่มีข้อจำกัดทางการเกษตร
เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินกรด โดยสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ ปัจจัยการผลิตและวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน เทคโนโลยีชีวภาพด้านการพัฒนาที่ดิน 4.สร้างเครือข่ายความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ด้วยการใช้นวัตกรรมการพัฒนาที่ดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ รณรงค์ให้เกษตรกรไถกลบตอซังแทนการเผาเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน 5.พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถถ่ายทอดสู่เกษตรกรนำไปใช้ได้จริง แก้ปัญหาดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสม 6.Big Data & AI กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลและการใช้ที่ดินให้เป็น Big Data และพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่และเกษตรกร
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารไม่เพียงแต่ลดทอนความสามารถในการผลิตอาหาร ยังส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชากรโลก ดังนั้น กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรดิน การพัฒนาที่ดิน จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และเป็นกลไกที่จะทำให้การพัฒนาการเกษตรเกิดความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ประชาชน เกษตรกรและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง