แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์ให้ทางการไทยหยุดดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมประท้วง หลัง 8 นักกิจกรรมถูกจับ-ดำเนินคดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ สืบเนื่องจากการจับกุมแกนนำแปดคนเมื่อคืนและในวันนี้ โดย มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการไทยกำลังใช้กฎหมายเป็นอาวุธ เพื่อปิดปากประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างสงบ ข้อหาเหล่านี้ถูกออกแบบมาอย่างชัดเจนเพื่อข่มขู่ประชาชนที่เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงที่มีคนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ทางการไทยต้องยุติการดำเนินคดีด้วยข้อหาเพื่อกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบเช่นนี้ เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบต่างเป็นสิทธิมนุษยชน แม้รัฐบาลจะไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ของพวกเขาก็ตาม
“ถึงเวลาแล้วที่ทางการไทยต้องแสวงหาความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับประชาชน แทนที่จะข่มขู่ไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าจะทำให้คนอีกหลายพันคนหวาดกลัวจนไม่กล้าออกมาชุมนุมอีก”
ก่อนหน้านี้ ในวันพุธ ที่ 19 สิงหาคม ตำรวจที่สน.สำราญราษฎร์ทำการจับกุมนายบารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก สมาชิกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ส่งผลให้ในเช้าวันนี้ มีการจับกุมนักกิจกรรมแปดคน รวมทั้งนายเดชาธร บำรุงเมือง แร็ปเปอร์จากวง Rap Against Dictatorship นายทศพร สินสมบุญ นักศึกษาที่เป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนปลดแอก นายธานี สะสม นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ และนายธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ บุ๊ก แร็ปเปอร์จากวง Eleven Finger ทั้งหมดได้รับการประกันตัวออกมา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่กระทำผิดซ้ำตามข้อกล่าวหา
ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม มีการจับกุมนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” สมาชิกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยด้วยข้อหาเดียวกัน รวมทั้งการจับกุมทนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” แกนนำนักศึกษาในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม ซึ่งทั้งสามคนได้รับการประกันตัวออกมา
นักกิจกรรมแต่ละคนอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หากศาลตัดสินว่ามีความผิดตามข้อหาร้ายแรง รวมทั้งยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 385 ตามลำดับ ละเมิดมาตรา 34 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะตามมาตรา 114 พระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 19 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
จนถึงปัจจุบัน ทั้ง 11 คนได้รับการแจ้งข้อหาจากการเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเสนอสามข้อต่อรัฐบาล ทั้งการยุบสภา การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ยุติการคุกคามประชาชน มีการออกหมายจับผู้ประท้วงอีกสี่คนที่เข้าร่วมในกิจกรรมเดียวกัน แต่ยังไม่มีการควบคุมตัวพวกเขา ส่วนนักกิจกรรมอีก 16 คน อาจถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน แม้จะยังไม่โดนออกหมายจับ แต่มีกำหนดต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานสอบสวน
ทนายอานนท์ นำภาถูกตำรวจจาก สน.ชนะสงครามจับเมื่อคืนที่ผ่านมา จากการเข้าร่วมในอีกกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นการประท้วงโดยแต่งชุดแฮรี่พอตเตอร์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ต่อมาตำรวจได้นำตัวทนายอานนท์ไปฝากขังที่ศาลอาญา และเขาได้รับการประกันตัวออกมาโดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำในข้อหาเดิม ทนายอานนท์ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 เป็นผู้ร่วมจัดชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ร่วมกันใช้เครื่องเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 และนำข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าสู่คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ประมาณเที่ยงวัน ตำรวจยังได้เข้าตรวจค้นห้องพักของทนายอานนท์ และมีรายงานว่าไม่พบหลักฐานที่ใช้การกระทำความผิด
นับแต่ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวและดำเนินคดีอาญามากขึ้นต่อบุคคลซึ่งเข้าร่วมในการประท้วงและกิจกรรมอย่างสงบ ผู้ประท้วงยังให้ข้อมูลว่าได้ตกเป็นเป้าหมายการคุกคามและการข่มขู่จากตำรวจมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพียงเพราะได้เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ