จดหมายเปิดผนึกขอให้สภาทนายความยกคำกล่าวหาของนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรณีขอให้ลบชื่อนายอานนท์ นำภา ออกจากทะเบียนทนายความ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 รายงานว่าสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์กรณีนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่งและเพื่อน ได้ยื่นเรื่องขอให้สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ลบชื่อนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ออกจากทะเบียนทนายความ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่านายอานนท์มีพฤติกรรมเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับสภาทนายความฯ จากการปราศรัยที่มีเนื้อหายุยง ปลุกปั่น บิดเบือน และล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 โดยก่อนหน้านี้นายอภิวัฒน์ ขันทอง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายอานนท์ นำภา ในความผิดตามมาตรา 116 และมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จากเหตุการณ์เดียวกันไว้แล้วที่ สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2563 คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบุคคลท้ายจดหมายท้ายจดหมายนี้ มีความเห็นว่าการที่สภาทนายความโดยคณะกรรมการมรรยาททนายความจะลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 52 (3) นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 51 วรรคสอง กล่าวคือ ต้องปรากฏว่าทนายความฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่สภาทนายความตราขึ้น แต่เมื่อพิจารณาข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ทั้งฉบับ ก็ไม่ปรากฏว่าเหตุผลตามที่นายอภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวอ้างนั้น อยู่ในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อใด อันจะเข้าเงื่อนไขให้มีการลบชื่อนายอานนท์ออกจากทะเบียนทนายความได้ อีกทั้งคดีความที่นายอภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวอ้างถึงนั้น อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแต่อย่างใด ซึ่งนายอภิวัฒน์ ขันทอง ที่เป็นทั้งทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่งและเพื่อน และเป็นถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ควรจะทราบดีว่ากรณีของนายอานนท์ยังไม่เข้าเงื่อนไขการขาดคุณสมบัติในการเป็นทนายความตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติทนายความฯ
สมาคมฯ เห็นว่าคำกล่าวหาของนายอภิวัฒน์ ขันทอง ไม่มีพฤติการณ์อันสมควรที่จะให้มีการสอบสวนมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัติทนายความฯ มาตรา 65 สภาทนายความฯ จึงสามารถมีคำสั่งยกคำกล่าวหาได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมสอบสวนแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา นายอานนท์ นำภา ได้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลากหลายประเด็น ทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองแรงงาน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเข้มแข็งและยั่งยืน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทนายความเพื่อผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพอย่างกล้าหาญ ยืนหยัดปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนสมกับเป็นผู้มีวิชาชีพทนายความ ที่ทนายความควรเอาแบบอย่าง
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาทนายความฯ ซึ่งเป็นสถาบันทางกฎหมายที่เป็นที่พึ่งของประชาชน รวมถึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการคุ้มครองปกป้องสมาชิกทนายความที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความยุติธรรมตลอดมา จะมีคำสั่งยกคำกล่าวหา นายอานนท์ นำภา และ แถลงท่าทีทีชัดเจนในปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทนายความและประชาชนในฐานะองค์กรวิชาชีพ และไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบุคคลใดเพื่อคุกคามทำลายผู้เห็นต่างทางการเมือง
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก sanook