เลขาฯศาลยุติธรรมเผยความคืบหน้าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลหมายจับออนไลน์ AWIS เชื่อมโยงข้อมูลกับสถานีตำรวจทั่วประเทศแล้ว 100% เช่นเดียวกับ ‘ดีเอสไอ-ตม.’ ออกหมายจับไปแล้ว 60,146 ฉบับ
.
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลหมายจับเอวิส (AWIS) ระหว่างศาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมว่า ขณะนี้ในปี 2563 การบันทึกข้อมูลขอหมายจับลักษณะออนไลน์ผ่านระบบ AWIS ศาลสามารถเชื่อมโยงระบบข้อมูลใช้ได้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศแล้วทั้งในเขตนครบาลและตำรวจภูธรแบบ 100 % เช่นเดียวกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมทั้งการเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั้งนี้สำหรับ ตม. นับตั้งแต่ทำ MOU เดือน พ.ย. 2562 ระบบแจ้งข้อมูลผู้ถูกออกหมายจับไปยัง ตม.เพื่อทราบกรณีตรวจสอบบุคคลยังด่านต่าง ๆ ก็รวดเร็วขึ้น เพราะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงาน
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับศาลยุติธรรม ที่ได้ใช้ระบบหมายจับออนไลน์ทั่วประเทศก็มีทั้งสิ้น 265 แห่ง โดยสถิตินับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 – 31 พ.ค. 2563 มียื่นคำร้องผ่านระบบ 26,792 คำร้อง โดยมีหมายจับออกไปจำนวนทั้งสิ้น 60,146 หมายจับ
(หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : ฐานข้อมูลหมายจับระบบ AWIS หมายถึง หมายจับสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่ หมายจับบุคคลสำคัญ หมายจับที่หลบหนีการติดกำไล EM หมายจับที่คดีถึงที่สุด หมายจับที่หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราว หมายจับคดีแพ่งหรือตามคำสั่งศาล และหมายจับกรณีผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ)
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงการเสริมอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล (Court Marshal) ที่ศาลได้จัดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาลทั้งชาย-หญิงครั้งแรก เมื่อปี 2562 จำนวน 35 คนด้วยว่า เจ้าพนักงานตำรวจศาลที่จะเพิ่มเติมชุดที่สอง ขณะนี้ได้คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาแล้วประมาณ 226 คน โดยเข้าสู่การฝึกอบรมแล้วในวันที่ 24 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนการอบรมนั้นจะเสร็จสิ้นช่วงเดือน ส.ค. 2563 เมื่อผ่านกระบวนการตามขั้นตอนครบถ้วนทั้งหมดเมื่อรวมจำนวนคอร์ทมาแชลทั้งชุดแรกและชุดที่สองแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 261 คน ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรม จะดำเนินการจัดสรรกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล กระจายประจำการยังศาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
นายสราวุธ กล่าวว่า เจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ Court Marshal ภารกิจสำคัญประการหนึ่งถือเป็นส่วนเสริมที่ทำให้ระบบการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กำไลข้อเท้า EM มาช่วยเรื่องปล่อยชั่วคราว มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะถ้าใครหลบหนีเราก็ติดตามทันทีจากเดิมที่กระบวนการติดตามไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ ก็กลายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นเจ้าภาพชัดเจนในการเริ่มกระบวนการ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าหนีเจ้าพนักงานตำรวจศาลก็ตามเลย อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับมาตรการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กำไลข้อเท้า EM มาช่วยเรื่องปล่อยชั่วคราว นับตั้งแต่ มี.ค.61 – พ.ค.63 สำนักงานศาลยุติธรรมใช้อุปกรณ์ไปทั้งหมด 14,601 คดี จะเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามนโยบายประธานศาลฎีกา ในส่วนที่ไม่มีเงิน ไม่มีหลักทรัพย์มาวางประกัน
“ระบบมอนิเตอร์ติดตามสัญญาณอุปกรณ์ก็ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมงดูว่ามีการออกนอกเขตพื้นที่หรือไม่ มีความพยายามหลบหนีหรือไม่ โดยทางสถิติ ณ เดือน ก.ค.63 พบว่ามีผู้ต้องหา/จำเลย หลบหนีระหว่างปล่อยชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งศาลออกหมายจับ 494 ราย สามารถติดตามจับกุมได้ 312 ราย โดยอยู่ระหว่างการติดตาม 182 ราย อย่างไรก็ตามตลอดการใช้งานในอุปกรณ์ของศาล เราไม่มีข้อขัดข้องขณะที่เราก็ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นด้วย เช่น กรมคุมประพฤติ หรือแม้กระทั่งตำรวจ ซึ่งเดิมเมื่อเริ่มต้นช่วงแรก ๆ มีชุดกำไลข้อเท้า EM ใช้ประมาณ 5,000 ชุด แต่หลายปีที่ผ่านมาได้ส่งเสริมและพัฒนาจนมีจำนวนที่ใช้กำไลข้อเท้า EM เพิ่มมากขึ้น” นายสราวุธ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/