นิด้าโพลเผย ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ชี้เป็นสิทธิเสรีภาพ แนะนายกรัฐมนตรีควรรับฟังปัญหาจากกลุ่มเยาวชนด้วยตนเอง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ม็อบเยาวชนปลดแอก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุมของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและในอีกหลายจังหวัด การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและในอีกหลายจังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.56 ระบุว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หากปราศจากอาวุธและความรุนแรง รองลงมา ร้อยละ 26.16 ระบุว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หากไม่กระทำผิดกฎหมาย ร้อยละ 18.24 ระบุว่า เป็นการชุมนุมของพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา ร้อยละ 17.12 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมเพื่ออนาคตของประเทศ ร้อยละ 13.44 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ ร้อยละ 9.76 ระบุว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกและสถานการณ์ความวุ่นวายในอนาคต ร้อยละ 8.88 ระบุว่า เป็นการจัดการชุมนุมเพื่อต่อต้านความไม่ยุติธรรมในสังคม ร้อยละ 7.04 ระบุว่า เบื่อการชุมนุมบนท้องถนน ร้อยละ 6.48 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมเพื่อล้มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 6.08 ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่มีกลุ่มการเมือง/พรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ร้อยละ 5.68 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมที่มีเจตนาอื่นแอบแฝง ร้อยละ 4.64 ระบุว่า เป็นแค่แฟชั่นการชุมนุม ทำตามกระแสตาม social media/คำชักชวนของเพื่อน ร้อยละ 0.88 ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่มีหน่วยงานต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง ร้อยละ 0.72 ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่มีการกระทำผิดกฎหมาย และร้อยละ 2.72 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านการเห็นด้วยของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและในอีกหลายจังหวัด พบว่า ร้อยละ 34.72 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ ร้อยละ 19.28 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นสิทธิของกลุ่มเยาวชนที่จะเรียกร้องความถูกต้องและอยากให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ร้อยละ 18.08 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ กลัวสถานการณ์จะเกิดความรุนแรง วุ่นวาย และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ยังไม่หมดไป 100% เกรงว่าจะกลับมาเเพร่ระบาดรอบ 2 ร้อยละ 23.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะทำให้เกิดความวุ่นวาย เหตุผล ยังไม่เพียงพอในการออกมาชุมนุม และยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 อยู่ และร้อยละ 4.16 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความกังวลว่าประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พบว่า ร้อยละ 11.20 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มากกว่า ในอดีต เพราะ กลุ่มเยาวชนในปัจจุบันมีความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป หัวรุนแรง และสื่อนำเสนอข่าวในเชิงการปลุกระดม ร้อยละ 16.72 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง พอ ๆ กับ ในอดีต เพราะ อาจมีการสร้างสถานการณ์เหมือนในอดีต ร้อยละ 29.76 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมือง แต่คงไม่เท่า ในอดีต เพราะ รูปแบบการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนมีความแตกต่างจากในอดีต และคาดว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ร้อยละ 16.88 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ เป็นการแสดงพลังของกลุ่มเยาวชนในการเรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบถึงเหตุผลในการชุมนุมเท่านั้น และเป็นการชุมนุมเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ร้อยละ 23.68 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ เป็นสิทธิในการแสดงเหตุผลของกลุ่มเยาวชน เป็นการชุมนุมอย่างสงบ และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และร้อยละ 1.76 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำเนินการกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.72 ระบุว่า ควรรับฟังปัญหาจากกลุ่มนักศึกษาด้วยตนเอง รองลงมา ร้อยละ 20.40 ระบุว่า ควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ทันที ร้อยละ 13.68 ระบุว่า ควรรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 6.56 ระบุว่า ควรอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร ร้อยละ 5.36 ระบุว่า ควรใช้กลไกรัฐสภาในการฟังปัญหาจากกลุ่มนักศึกษา ร้อยละ 4.72 ระบุว่า ควรใช้กลไกราชการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ร้อยละ 2.88 ระบุว่า ควรใช้กฎหมายดำเนินการกับผู้กระทำผิด และร้อยละ 3.68 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ