ป.ป.ช.โต้สมาคมพนักงานสอบสวนฯ ยันมีอำนาจส่งมอบสำนวนคดีอาญาให้ พนง.สอบสวน ตร.ดำเนินการได้ ชี้เป็นไปตาม รธน. ม.234 วรรคสอง-พ.ร.บ.ป.ป.ช.บัญญัติไว้
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า สืบเนื่องจากสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวกรณีสมาคมพนักงานสอบสวน (สพส.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบและสืบสวนข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งมอบสำนวนคดีอาญาจำนวนมากไปยังพนักงานสอบสวนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ทำการสอบสวน โดยอาศัยการใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยสมาคมพนักงานสอบสวนเห็นว่า การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีอำนาจสอบสวนคดีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากทำการสอบสวนไปโดยมิชอบ พนักงานอัยการจะไม่มีอำนาจฟ้อง สร้างความเสียหายต่อการอำนวยความยุติธรรมของประเทศ นั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. เห็นควรแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนทราบ ดังนี้
ในการมอบหมายเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ มีหลักการและบทบัญญัติแห่งกฎหมายสืบเนื่องมาจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคล ตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” และต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายเรื่องกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับ ก็ยังคงกำหนดหลักการดังกล่าวไว้ โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 234 วรรคสอง กำหนดให้ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีจำเป็นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็ได้ ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ ได้กำหนดนิยามคำว่า “พนักงานสอบสวน” หมายความว่าพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้หมายความรวมถึงพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษด้วย และยังคงบัญญัติในมาตรา 61 วรรคสอง ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องที่ได้รับมาจากพนักงานสอบสวนแม้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงที่เป็นการกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการ ก็ให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน และมาตรา 63 กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มิใช่ความผิดร้ายแรงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้ อันจะเห็นได้ว่าหลักการที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการนั้น เป็นหลักการที่มีมาแต่เดิมและที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการแต่อย่างใด
ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อใช้ดุลพินิจในการมอบหมายเรื่องกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการแทนดังกล่าว ตามมาตรา 61 หรือมาตรา 63 ได้กำหนดให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณามอบหมายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว และจากปริมาณเรื่องร้องเรียนกล่าวหา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการทั้งหมด นับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ จำนวนประมาณ 19,000 เรื่อง นั้น ได้มีการมอบหมายเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ จำนวนประมาณ 1,600 เรื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องที่มอบหมายพนักงานสอบสวนดำเนินการมีจำนวนน้อยและล้วนเป็นเรื่องความผิดที่มีลักษณะไม่ร้ายแรงเท่านั้น อีกทั้ง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายเรื่องกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการดังกล่าวแล้ว ยังคงเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการกำกับติดตามเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ตามบทบัญญัติมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย
ฉะนั้น การพิจารณามอบหมายเรื่องกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการแทน นอกจากจะมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 234 วรรคสอง แล้ว ยังมีบทบัญญัติมาตรา 61 และมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้เป็นอำนาจในการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณามอบหมายได้ตามที่เห็นสมควรด้วย การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหาที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามบทบัญญัติมาตรา 61 และ/หรือมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/