สอวช. คลอดรายงานการศึกษาวิจัยมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมนำผลศึกษาต่อยอดใช้ในการวิเคราะห์เพื่อประกอบกับการปรับแผน อววน. รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤตการณ์โควิด-19
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า รายงานการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สอวช. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ในหลากหลายสาขาวิชาชีพทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในช่วงตลอดระยะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเนื้อหานำเสนอตั้งแต่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบที่เกิดขึ้นและมาตรการลดผลกระทบของทั้งไทยและทั่วโลก ตลอดจนโมเดลการฟื้นฟูและภาพอนาคตของประเทศไทยใน 4 ระยะ เป้าหมายและประเด็นสำคัญด้าน อววน. เพื่อรองรับการฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านการเกษตรและอาหาร ด้านการท่องเที่ยว ด้านการผลิต ด้านการบริการ ด้านการศึกษา และด้านการสาธารณสุข และปิดท้ายด้วยข้อเสนอแผนงานการสร้างงานและรายได้รองรับคนตกงานและผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชากร ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องออกมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาด เช่น การปิดเมือง (lockdown) ทั้งภายในประเทศและการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ การให้อยู่ในที่พักอาศัยทั้งการบังคับและความสมัครใจ (voluntary/compulsory self-quarantine/isolation) การตรวจและติดตามกลุ่มเสี่ยง (contact tracing) การปิดสถานประกอบการบางประเภทที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างและการปิดสถานศึกษาชั่วคราว การเว้นช่องว่างทางสังคม ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้เอง ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบทั้งต่อสถานภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ กล่าวคือ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่มากนักจะเกิดปัญหาสภาพคล่องจากการที่ธุรกิจต้องปิดตัวลงชั่วคราว ประชาชนที่เป็นกลุ่มแรงงานขาดรายได้ทั้งจากการเลิกจ้างชั่วคราวและถาวร ในขณะที่ด้านสังคม พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป มีความตื่นตัวด้านสุขอนามัยมากขึ้น
ดร. กิติพงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือไปแล้วหลากหลายมาตรการ เช่น โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ภาครัฐให้เงินช่วยเหลือประชาชน 5,000 บาทต่อเดือน การให้สินเชื่อพิเศษทั้งของบุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง การลดค่าธรรมเนียม ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าต่าง ๆ รวมถึงการขยายเวลาการชำระภาษี รวมถึงการอนุมัติวงเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 แต่ในระยะต่อไป ซึ่งครอบคลุมถึงระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับสู่การประกอบการกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ระยะการฟื้นฟูและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย และระยะการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวของสังคมใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการอื่นๆ ที่จะสนับสนุนในการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการช่วยเหลือภาคส่วนต่าง ๆ ในการปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่ (New Normal)
“สอวช. ได้ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากตัวเลขสถิติข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน การประชุมระดมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ และเอกสารเผยแพร่ต่าง ๆ เพื่อออกแบบมาตรการด้าน อววน. เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาทิ 1) การสร้างงานในชุมชน โดยใช้กลไกยุวชนสร้างชาติ และ Cooperative Commune Coaching platform ในการสร้างแหล่งน้ำเกษตร และการพัฒนาชุมชนนวัตกรรม เพื่อสร้าง value chain อุตสาหกรรมระดับพื้นที่ เช่น เกษตรอินทรีย์ อาหาร ท่องเที่ยวชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน และ creative economy ฯลฯ 2) การพัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็น มุ่งเน้นกลุ่มแรงงานตกงาน แรงงานคืนถิ่น นักศึกษาจบใหม่หรือที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยใช้กลไก Reskill Upskill และ New skill platform เพื่อยกระดับทักษะคนตกงานให้เข้าสู่งานใหม่หรือยกระดับงานเดิม เช่น ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร ด้านการตลาดดิจิทัล ด้านแพทย์แผนไทยโบราณ ด้านการให้บริการสุขภาพ และ 3) การสนับสนุน SME สร้างนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยใช้กลไกการอุดหนุนธุรกิจขนาดเล็กสร้างนวัตกรรมและยกระดับเทคโนโลยี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นโจทย์สำคัญของประเทศ เช่น ระบบ screening, tracing, tracking, surveillance system (STTS) เพื่อติดตามนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถติดตามกลุ่มเสี่ยงในกรณีพบผู้ติดเชื้อและควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ได้จัดทำขึ้นฉบับนี้ จะนำไปใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอนโยบายและเสนอมาตรการ อววน. เพื่อให้สามารถตอบโจทย์รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤตการณ์โควิด-19ในระยะยาวต่อไป” ดร. กิติพงค์ กล่าว
Download : รายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/Covid-19Recovery