ศาล รธน.ชี้ชัด พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ม.117 ห้ามผู้ใดทำสิ่งล่วงล้ำแม่น้ำ ไม่ขัด รธน.ม. 249-250 ที่ให้อำนาจ อปท. ปกครองแบบท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณีศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดี (เทศบาลเมืองปทุมธานี) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 249 และมาตรา 250 หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า โดยหลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้เป็นไปตามกฎกระทรวง และเมื่อผู้ขออนุญาตยื่นคำขอถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแล้ว เจ้าท่าต้องอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 249 และ 250
พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117 ระบุว่า ภายในมณฑลกรุงเทพฯ ห้ามเป็นอันขาดมิให้ผู้ใดทำสิ่งใดที่เป็นการล่วงล้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า หรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 249 ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 1 ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ
การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน
มาตรา 250 ระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอํานาจดูแลและจัดทําบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การจัดทําบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะใดที่สมควรให้เป็นหน้าที่และอํานาจโดยเฉพาะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการดําเนินการใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องสอดคล้องกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคสี่ และกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกและขั้นตอนในการกระจายหน้าที่และอํานาจ ตลอดจนงบประมาณและบุคลากรที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจดังกล่าวของส่วนราชการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
ในการจัดทําบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะใดที่เป็นหน้าที่และอํานาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าการร่วมดําเนินการกับเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐหรือการมอบหมายให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดําเนินการ จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดําเนินการเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมหรือมอบหมายให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดําเนินการนั้นก็ได้รัฐต้องดําเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ของตนเองโดยจัดระบบภาษีหรือการจัดสรรภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้อย่างเพียงพอ ในระหว่างที่ยังไม่อาจดําเนินการได้ ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพลางก่อน
กฎหมายตามวรรคหนึ่งและกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหาร การจัดทําบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาการเงินและการคลัง และการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทําเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคํานึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/