ปภ.รายงานมีจังหวัดประกาศเขตฯ ภัยแล้ง 29 จังหวัดพะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ชลบุรี และสงขลา ระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2563 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 29 จังหวัด ทั้งนี้ ปภ. ได้บูรณาการทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประสบภัย ทั้งการสูบส่งน้ำ การขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล การจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้ง
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (9 พ.ค. 63) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 29 จังหวัด 162 อำเภอ 858 ตำบล 5 เทศบาล 7,434 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น
ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ พิษณุโลก และตาก รวม 47 อำเภอ 234 ตำบล 1,918 หมู่บ้าน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ รวม 73 อำเภอ 423 ตำบล 2 เทศบาล 3,939 หมู่บ้าน
ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี และชลบุรี รวม 41 อำเภอ 190 ตำบล 2 เทศบาล 1,519 หมู่บ้าน/ชุมชน
ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สงขลา รวม 1 อำเภอ 11 ตำบล 1 เทศบาล 58 หมู่บ้าน/ชุมชน
ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยระดมสรรพกำลัง เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของพื้นที่ ทั้งการสูบส่งน้ำ การขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล และจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย