คกน. จัดส่งข้าวจากไร่หมุนเวียนกว่า 7 ตันช่วยชุมชนบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี แถลงการณ์จี้รัฐเยียวยาชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือได้รับผลกระทบมาตรการห้ามเผา
วันที่ 30 เม.ย. 2563 เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.) ได้ระดมรับบริจาคข้าวเปลือกและข้าวสารจากไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยง จัดส่งไปให้ชุมชนบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ภายหลังพบว่าขาดแคลนอาหารในช่วงปิดชุมชนสู้ COVID-19
นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.) กล่าวว่า เครือข่ายฯ รวมข้าวได้ประมาณ 19 ตัน แบ่งไปที่กิจกรรมข้าวแลกปลา 7.9 ตัน หลังจากได้ข่าวเรื่องพี่น้องที่บางกลอย จึงแบ่งไปช่วยเหลือ 7.2 ตันในวันนี้ นอกจากนั้นได้แบ่งไปที่พื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในขณะเดียวกันก็เหลือไว้ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน เป็นค่าใช้ในการขนส่ง อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อตั้งกองทุนพัฒนาปกป้องไร่หมุนเวียน เป็นกองทุนเบื้องต้นที่จะช่วยเหลือพี่น้องกะเหรี่ยงที่ไม่ได้เผาเตรียมแปลงเกษตรไร่หมุนเวียนในปีนี้ หรือถูกยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
“ปัญหาตอนนี้คนที่ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้เผาไร่ ไม่ได้มีการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรให้พร้อมที่จะเพาะปลูก สาเหตุก็ด้วยกฎหมายและนโยบาย รวมถึงคำสั่งต่างๆ ที่ไม่ให้ใช้ไฟในช่วงนี้ เป็นเหตุให้เกิดปัญหา แต่พอมาถึงฤดูกาลที่ต้องเพาะปลูกฝนก็ลงมาแล้ว การจัดการวัชพืชหรือเศษพืชก็ไม่สามารถทำได้ ที่สำคัญคือพื้นที่ตรงนี้ด้วยระบบของธรรมชาติจะเป็นการหมุนเวียนพลังงานและปุ๋ยให้พืชที่จะปลูก พอไม่มีการใช้ไฟก็ไม่มีธาตุอาหารให้พืชงอกงามได้ ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ลักษณะลาดชัน ไม่เหมือนที่นาจึงไม่สามารถทดน้ำเข้ามาได้” ผู้ประสานงาน คกน. กล่าว
นอกจากนั้น ชุมชนยังถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ การตรวจยึดแปลงไร่หมุนเวียน และการจับกุมดำเนินคดี ทำให้มีหลายชุมชนไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้แล้วในปีนี้ แม้ที่ผ่านมาจะช่วยกันดูแลจัดการไฟป่าอย่างหนัก
“พอไฟใกล้จะหมดลงก็มีมาตรการเข้าไปยึดพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ผมคิดว่าเพราะความรุนแรงเกิดที่ดอยสุเทพไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ ผู้บังคับบัญชาบอกว่าต้องไปหาผู้ทำผิดมาให้ได้ ก็ต้องไปปฏิบัติการที่อมก๋อย คล้ายๆ กับสถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ดอยอินทนนท์เมื่อปี 2540 ตอนนั้นแล้งมากเหมือนปีนี้ แต่พอไม่สามารถจับคนที่เผาที่นั่นได้ก็ต้องไปจับพี่น้องเผ่าดาราอั้งที่เชียงดาว คือเหมือนต้องสร้างสถานการณ์เพื่อกลบข่าวไม่ดีของตัวเอง อันนี้ก็เหมือนกัน พอเกิดปัญหาที่ดอยสุเทพเขาไม่สามารถจับคนได้ ก็ไปจับพื้นที่อื่นๆ ที่ทำไร่หมุนเวียน แล้วบอกว่าเป็นสาเหตุของไฟป่า ทั้งๆ ที่มันไม่เกี่ยวข้องกันเลย มันไกลกัน ไม่มีใครพิสูจน์ได้เลยว่าการทำไร่หมุนเวียนของพี่น้องอมก๋อนทำให้เกิดไฟหรือควันที่ดอยสุเทพ เป็นโจทย์ใหญ่ว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบความเสียหายนี้อย่างไร” นายสรศักดิ์ ระบุ
ด้าน นายพฤ โอโดเชา ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคาใน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวคิดการจัดการปัญหาของรัฐขณะนี้เป็นแบบ “กรีนรักชาติ สีเขียวนิยม” ที่ไม่ได้มองเห็นความเป็นคนของชุมชนที่อยู่ในป่า เมื่อรัฐส่วนกลางให้นโยบายมาอย่างไร ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอก็ต้องสนองตามนั้น โดยไม่ได้มองเห็นความทุกข์ร้อนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่
“นายอำเภอบอกว่เป็นอำนาจของจังหวัด เขาไม่มีอำนาจ เขาไม่กล้าให้ชาวบ้านเผา อีกวันหนึ่งเราไปรับหนังสือที่ ชม.11 ป่าสงวนฯ ก็โทรมาบอกผู้ใหญ่บ้านว่าห้ามเผาเด็ดขาด ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาจะดำเนินคดี ผู้ใหญ่บ้านรับผิดชอบไหวใหม่ แต่เราบอกว่าถ้าเราไม่เผาเราจะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่ให้เผา เขาก็ไม่เผากันหรอก สุดท้ายก็กลัว เขาก็บอกว่าแดดน่าจะรออยู่นะ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาไม่รอแน่ๆ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26-27 ฝนก็มาต่อเนื่อง เปียก หญ้ามาแล้ว” พฤ กล่าว
ขณะที่นายธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกทำให้อยู่ชายขอบและไม่มีปากมีเสียงมาตลอด เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ประกาศเป็นเขตป่าของรัฐทับพื้นที่ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงไม่เคยมีความมั่นคงในชีวิต เป็นการดำเนินชีวิตที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกพรากไป
“กะเหรี่ยงเผชิญกับปัญหาที่เมื่อ 50 ปีก่อนเคยเผชิญมาแล้วทั้งนั้น มันเป็นเรื่องการถูกทำให้ด้อยอำนาจทางสังคม พร้อมจะเป็นกลุ่มที่รับข้อกล่าวหาทางสิ่งแวดล้อมเสมอๆ ไม่ว่าจะด้วยกระแสน้ำท่วม น้ำแล้ง มลพิษทางอากาศ จนถึงไฟป่าหมอกควัน เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เผชิญมายาวนานแล้วตั้งแต่มีรัฐไทย ตั้งแต่มีการประกาศกฎหมายมาทับ ความไม่มั่นคง การถูกตีตรา การถูกมายาคติที่บิดเบือนแบบนี้กำลังสร้างความไม่มั่นคงในวิถีชีวิตของชุมชน นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยง แต่ปัญหานี้คือตัวแทนของสังคมไทยและสังคมโลก มันมีทั้งอนาคตของความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนของระบบนิเวศเป็นเดิมพัน” ธนากรกล่าว
นอกจากนั้น ธนากรยังกล่าวเน้นย้ำว่า “ไร่หมุนเวียน” จะเป็นระบบการเกษตรที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต เห็นได้ชัดจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่แม้กะเหรี่ยงจะปิดชุมชนและพึ่งพาทรัพยากรหรือสิ่งอำนวยความสะดวกจากข้างนอกน้อย ก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ปรกติสุข และยังสามารถมีข้าวเหลือมากมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนอาหารอื่นๆ
“เป็นคำถามที่เราต้องตั้งให้สังคมว่า เราจะไม่รักษาคุณค่าที่เหลืออยู่ตอนนี้ไว้เลยหรือ ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิดก็แสดงให้เห็นแล้วว่าแม้เผชิญเงื่อนไขแรงเสียดทานขนาดนี้ แต่ยังมีผลผลิต มีข้าวพอในการแบ่งคนอื่น นี่ขนาดอยู่ภายใต้กฎหมายแบบนี้ แต่ถ้าเราปลดล็อกเรื่องพวกนี้แล้วเสริมศักยภาพสมัยใหม่เข้าไปช่วยเขา เราจะมีพื้นที่หรือระบบการผลิตอาหารที่มีความหลากหลายสูงมาก มีความมั่นคงทางอาหารสูงมาก การรักษาระบบนิเวศสูงมาก สังคมต้องคิดว่าคุณจะมองแค่การใช้ไฟที่เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งระยะการทำไร่หมุนเวียนของทั้งปี แล้วประเมินว่าเขาเป็นผู้ทำลาย ประเมินแค่นั้นโดยไม่คิดจะเก็บรักษาสิ่งที่ถูกพิสูจน์มาแล้วว่ามีคุณประโยชน์แบบนี้ไว้เลยหรือ” นักวิชาการอิสระย้ำ
ทั้งนี้ จากงานวิจัยเรื่อง สิทธิของชุมชนชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) กับการดำเนินเขตวัฒนธรรมพิเศษไร่หมุนเวียนในพื้นที่ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหากรณีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าภาคเหนือ โดยอาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุลและคณะ เมื่อปี 2560 ระบุว่ามีชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือที่ยังเกี่ยวข้องกับการทำไร่หมุนเวียน 1,630 ชุมชน ร้อยละ 54 (880 ชุมชน) ยังคงทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีหลัก ร้อยละ 15 (245 ชุมชน) ไม่มีการทำไร่หมุนเวียนแล้ว และร้อยละ 32 (505 หมู่บ้าน) อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรรูปแบบอื่น โดยไร่หมุนเวียนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี 2556 และได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.) ยังได้ออกเเถลงการณ์ เรื่อง คำสั่งห้ามเผากับผลกระทบต่อการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรมปกาเกอะญอ มีรายละเอียดว่า
ในช่วงวิกฤตหมอกควันไฟป่าผ่านมา พวกเราชุมชนปกาเกอะญอในนาม “เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.)” ได้มีการจัดการไฟอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ทั้งการทำแนวกันไฟ การจัดเวรยามเฝ้าระวัง การเผาชนทำลายเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณของชาวบ้าน ชุมชนมีนวัตกรรมและเครื่องมือในการจัดการไฟที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าได้ แม้จะขาดความร่วมมือหรือการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร จนขณะนี้เมื่อมีฝนตกลงมาแล้วสถานการณ์ก็ปรกติ เข้าสู่ช่วงฤดูกาลที่ชุมชนจะได้ทำการเกษตรแบบ “ไร่หมุนเวียน” ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ
อย่างไรก็ตาม นับจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา และได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ระดมสรรพกำลัง เข้าดับไฟป่า ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง สั่งการไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ให้จับตากลุ่มเสี่ยง ให้ทุกหน่วยงานคุมเข้ม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีการเผาตลอดช่วงห้ามเผาตามที่จังหวัดกำหนด และเร่งเตรียมการรับมือการเผาสำหรับเกษตรกร หลังพ้นช่วงห้ามเผาด้วย สำหรับการจุดไฟเผาป่า ต้องหาตัวผู้กระทำผิดให้ได้ และให้เร่งส่งฟ้องดำเนินคดีโดยเร็ว และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแถลงข่าวการจับกุมและดำเนินคดี อ้างเพื่อป้องปรามและเป็นตัวอย่างให้ประชาชนรับรู้ นำซึ่งการจับกุมชาวบ้านในหลายพื้นที่ โดยไม่แยกแยะและทำลายความร่วมมือของภาคประชาสังคม
การมอบนโยบายจากรัฐบาลและการดำเนินการอันเคร่งครัดดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนปกาเกอะญอที่ต้องดำรงวิถีการทำไร่หมุนเวียนไว้เพื่อเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร จนถึงวันนี้ยังมีชุมชนปกาเกอะญอจำนวนมากที่ถูกคุกคามให้เกิดความหวาดกลัว ไม่สามารถดำเนินการเผาพื้นที่แปลงเกษตรไร่หมุนเวียนเพื่อเตรียมการเพาะปลูกในช่วงเวลาอันควรได้ เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.) จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. เราขอยืนยันว่า หลังจากที่เราทำได้ดูแลปกป้องผืนป่าอย่างหนักในช่วงสถานการณ์วิกฤตหมอกควันไฟป่า พวกเราในฐานะชุมชนปกาเกอะญอดั้งเดิมควรมีสิทธิในการทำไร่หมุนเวียน อันเป็นวิถีการเกษตรที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้พวกเรายังสามารถดำรงชีพต่อไปในภายภาคหน้าได้
2. หากหลังจากนี้ชุมชนใดที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการปฏิบัติการของรัฐ จนทำไร่หมุนเวียนล่าช้า กระทบต่อผลผลิต หรือไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ในปีนี้ รัฐต้องมีมาตรการเยียวยาโดยเร่งด่วนและมีความเป็นธรรม
3. กรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีโครงการปลูกป่า 66 ล้านต้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ในปีนี้ เราขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งในเรื่องของความคุ้มทุน ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผืนป่า ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนระลอกที่สอง
4. เราเป็นชุมชนปกาเกอะญอที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ขอยืนยันว่าวิถีชีวิตของเรา โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียนเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยที่ไร่หมุนเวียนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาของประเทศไทยเมื่อปี 2556 และขอยืนยันว่ารัฐต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนด้วยว่ารัฐต้อง “ศึกษาและยอมรับระบบอะไร"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/