การเป็นวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้น เพราะชีวิตต้องเจอทั้งการปิดโรงเรียนชั่วคราวและการยกเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เยาวชนจำนวนมากอาจจะพลาดช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต รวมทั้งเวลาแห่งความสนุกสนานในแต่ละวัน เช่น การคุยกับเพื่อนและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เยาวชนที่กำลังรู้สึกกังวล โดดเดี่ยว และผิดหวัง โปรดรับรู้ว่า “คุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง”
เพื่อช่วยให้เยาวชนทุกคนฝ่าฟันกับความท้าทายครั้งนี้ องค์การยูนิเซฟได้พูดคุยกับ ดร. ลิซา ดามูร์ นักจิตวิทยาวัยรุ่นผู้เชี่ยวชาญ นักเขียนหนังสือเจ้าของผลงานยอดขายสูงสุด และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ ที่ได้แนะนำ 6 กลยุทธ์ เพื่อการดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจดังนี้
1. “เข้าใจความกังวล” จำไว้ว่าความวิตกกังวลนั้นเป็นเรื่องปกติ
หากใครกำลังรู้สึกกังวลจากหัวข้อข่าวที่น่าตกใจในแต่ละวัน จงจำไว้ว่า คุณไม่ได้รู้สึกเพียงคนเดียวและไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะรู้สึกเช่นนี้ นักจิตวิทยายอมรับกันมานานแล้วว่าความวิตกกังวลเป็นกลไกปกติของร่างกายที่มีประโยชน์ในการแจ้งเตือนให้เราทราบถึงภัยคุกคาม เพื่อหาวิธีป้องกันตนเอง ความกังวลจะช่วยให้เราตัดสินใจว่าจะต้องทำสิ่งใดในขณะนี้ เช่น ไม่พบปะผู้คน หรือไปอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก หมั่นล้างมือและไม่สัมผัสใบหน้าของตน เป็นต้น ความรู้สึกเหล่านั้นไม่เพียงช่วยให้ตัวคุณเองปลอดภัย แต่ยังรวมถึงผู้อื่นด้วย
เมื่อทราบแล้วว่า ความกังวลใจเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นอาการปกติทั่วไป คุณควรเลือกรับข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น จากเว็บไซต์ขององค์การยูนิเซฟ และเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก หากคุณรู้สึกไม่สบายหรือเป็นกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัส บอกให้ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่คุณไว้ใจทราบเพราะพวกเขาช่วยคุณได้ เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างเพื่อดูแลตัวเราเองและผู้อื่นให้ปลอดภัย รวมทั้งสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี เช่น การล้างมือบ่อย ๆ การไม่สัมผัสใบหน้าของเรา และการรักษาระยะห่างทางสังคม จำไว้ว่าการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด -19 โดยทั่วไปนั้นไม่รุนแรงโดยเฉพาะสำหรับเด็กและคนหนุ่มสาว ที่สำคัญ อาการส่วนใหญ่ของโรคนี้ก็รักษาให้หายได้
2. “ให้เวลากับตัวเอง” ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ
นักจิตเห็นพ้องกันว่า เมื่อเราตกอยู่ในสภาวะยากลำบากอย่างต่อเนื่อง เราจะต้องแบ่งปัญหาออกเป็นสองส่วน คือปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แม้ในเวลานี้ หลาย ๆ อย่างเราไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เรารับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้คือการมองหากิจกรรมที่เราสนใจ ลองทำการบ้าน ดูหนังเรื่องโปรด หรือนอนเอกเขนกอ่านนิยาย เพื่อผ่อนคลายและสร้างสมดุลให้กับชีวิตในแต่ละวัน
3. “โฟกัสสิ่งที่ควบคุมได้” มุ่งมั่นทำสิ่งใหม่
คุณเคยสนใจทำอะไรใหม่ ๆ บ้างไหม เช่น อ่านหนังสือเล่มใหม่ หรือฝึกเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด! การมีสมาธิอยู่กับกิจกรรมตรงหน้าและหาวิธีใช้เวลาที่เพิ่มขึ้นอย่างสร้างสรรค์ เป็นวิธีดูแลสุขภาพจิตของคุณที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตัวฉันเองก็จดรายชื่อหนังสือที่ต้องการอ่าน และสิ่งที่ตั้งใจจะทำทั้งหมดไว้แล้ว
4. “โอบกอดความรู้สึก” ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง
การพลาดโอกาสทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูง งานอดิเรก หรือการแข่งขันกีฬา ล้วนเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างมากสำหรับวัยรุ่น สิ่งเหล่านี้เป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้วัยรุ่นเศร้าหมอง ซึ่งไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะรู้สึกเช่นนั้น และวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับความผิดหวังเช่นนี้ก็คือ การรู้ว่าตัวเองรู้สึกเช่นไร เมื่อเรารู้สึกเจ็บปวด ทางเดียวที่จะหลุดพ้นก็คือ ต้องผ่านความรู้สึกนั้นมาให้ได้ ดังนั้น หากเศร้าก็จงเศร้า และเมื่อคุณปล่อยให้ตัวเองรู้สึกถึงความเศร้าแล้ว คุณก็จะรู้สึกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กแต่ละคนต่างมีวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเองที่แตกต่างกัน เด็กบางคนสร้างสรรค์งานศิลปะ บางคนก็ต้องการพูดคุยกับเพื่อนและเชื่อมโยงถึงกันผ่านความเศร้าใจแม้จะอยู่ไกลกัน หรือบางคนอาจหาวิธีบริจาคให้กับธนาคารอาหาร สิ่งสำคัญคือการเลือกทำในสิ่ง “ใช่” สำหรับตัวเอง
5. “เพื่อนคนเดิม เพิ่มเติมคือโซเชียล” หาวิธีใหม่ ๆ ในการสนุกกับเพื่อนฝูง
หากต้องการใช้เวลากับเพื่อนฝูงโดยที่ยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่ล่ะก็ สื่อสังคมออนไลน์เป็นทางเลือกที่ดีเยี่ยม ลองมาใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่นอาจเข้าร่วมกิจกรรม #มือสะอาด ใน Tik-Tok Challenge ฉันเชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ของวัยรุ่นเสมอว่าพวกเขาจะสามารถหาวิธีติดต่อกันทางออนไลน์ด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี การเข้าถึงหน้าจอหรือสื่อสังคมได้อย่างไร้ข้อจำกัดอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะนอกจากไม่ดีต่อสุขภาพแล้วยังอาจเป็นการเพิ่มความวิตกกังวลให้กับตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้เยาวชนลองปรึกษาผู้ปกครองเรื่องการจัดสรรเวลาบนหน้าจออย่างเหมาะสมและเรียนรู้วิธีใช้โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย
6. “ส่งต่อความรัก” เมตตาตนเองและผู้อื่น
วัยรุ่นบางคนกำลังเผชิญกับการถูกระรานหรือข่มเหงในสถานศึกษา โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับการข่มเหงรังแกทุกรูปแบบคือ การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เด็กและวัยรุ่นที่ตกเป็นเป้าไม่ควรเผชิญหน้ากับการระรานเหล่านั้นเพียงลำพัง แต่พวกเขาควรหันไปหาเพื่อนหรือผู้ใหญ่ที่จะให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่พวกเขาได้ หากคุณเห็นเพื่อนถูกรังแก จงยื่นมือเข้าไปและพยายามให้ความช่วยเหลือ การไม่ทำอะไรเลยจะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าทุกคนไม่ในใจหรือห่วงใยเขา จงจำไว้ว่าคำพูดของคุณสร้างความแตกต่างได้ และต้องไม่ลืมไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนส่งต่อข้อมูลหรือบอกกล่าวสิ่งใด ๆ ที่อาจเป็นการทำร้ายจิตใจผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้