อสส.สั่งดำเนินมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ‘เด็ก-เยาวชน’ ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้เข้าสู่กระบวนการแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู กักตัวในบ้าน 14 วัน-งดไปสถานที่ชุมชนเสี่ยงติดเชื้อ คำนึงถึงความเหมาะสมของบริบทแต่ละภูมิประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ลงนามในหนังสือแนวทางปฏิบัติในการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้อง สำหรับคดีที่มีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
หนังสือดังกล่าวระบุสาระสำคัญว่า ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 และรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ได้พบการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งเป็นความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี และอยู่ในเงื่อนไขของการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86
สำนักงาน อสส. ได้ประชุมร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อหาแนวทางความร่วมมือให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้อง ซึ่งเป็นการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กหรือเยาวชน และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน สำนักงาน อสส. จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพิจารณาเห็นสมควรดำเนินการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้อง ดังนี้
1.ให้หัวหน้าพนักงานอัยการที่รับผิดชอบดำเนินคดีเยาวชนและครอบครัว วางแนวทางร่วมกับผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้อง โดยการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ตามแนวทางมาตรการป้องกันหรือข้อปฏิบัติในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ให้ใช้ดุลพินิจพิจารณาความเหมาะสมตามบริบทของแต่ละภูมิประเทศ ภูมิสังคม ลักษณะและเหตุแห่งการกระทำความผิด รวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
2.ให้พนักงานอัยการที่เข้าร่วมประชุม จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และพนักงานอัยการที่พิจารณาให้ความเห็นชอบกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชน ในการกำหนดมาตรการป้องกันหรือข้อปฏิบัติในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การกักตัวในบ้านเป็นระยะเวลา 14 วัน หรือการงดไปสถานที่ชุมชนหรือสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และให้ถือว่าเป็นสาระสำคัญที่ให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage