ธปท.แจงตั้งกองทุน BSF วงเงิน 4 แสนล้านบาท เข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน ไม่เอื้อธุรกิจเอกชนบางราย ดึง 'คลัง-ก.ล.ต.-แบงก์พาณิชย์-มืออาชีพ' ร่วมกลั่นกรอง ด้าน 'ตลท.' หนุนกองทุน BSF ชี้ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจและรักษาเสถียรภาพโดยรวมของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ขอขอบคุณสำหรับความห่วงใยที่อดีตผู้บริหาร ธปท. ได้ยกขึ้นในเรื่อง การออกพ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) รวมทั้งเสนอแนะให้ใช้กลไกของธนาคารของรัฐในการตัดสินใจเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน
ธปท. ขอเรียนว่าการออกมาตรการในครั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% 20 ของ GDP เป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญ หากตลาดการเงินส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา ก็อาจจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ระบบการเงินโดยรวมและภาคเศรษฐกิจจริง
นอกจากนี้ การรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงเข้าไปแก้ไขย่อมมีต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจการเงินสูงกว่าการเข้าไปดูแลก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม จึงต้องเตรียมเครื่องมือไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วนอาจจะทำให้ไม่สามารถพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพันธกิจอื่นอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็มักจะไม่ใช่ลูกค้าที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความคุ้นเคยอยู่เดิม
"การออกพระราชกำหนดฯ ให้อำนาจ ธปท. ดำเนินการเรื่อง BFS ไม่ได้เป็นการแก้กฎหมาย ธปท. แต่เป็นการให้อำนาจการดำเนินการชั่วคราวแก่ ธปท. ในการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย พ.ร.ก. มีอายุ 5 ปี และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่วางใน พ.ร.บ. ธปท. 2551 แต่ประการใด"นางจันทวรรณกล่าว
ส่วนความกังวลเรื่องการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. เรื่องความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจ หรือแม้กระทั่งไม่มั่นใจในความชำนาญของพนักงาน ธปท. นั้น ล้วนเป็นประเด็นที่ ธปท. คำนึงถึงและระมัดระวังมากที่สุด ในการวางแนวทางการทำงานของกองทุน BSF จึงจัดโครงสร้างการกำกับดูแล กระบวนการทำงานและการบริหารความเสี่ยงกองทุน BSF อย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ธนาคารพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระ รวมทั้งการใช้มืออาชีพมาร่วมบริหารจัดการกองทุน โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญ ธปท.ยังคงยึดหลักการของการเป็นผู้ให้สภาพคล่องแหล่งสุดท้าย (last resort) ที่ให้กู้แก่บริษัทที่มีผลดำเนินธุรกิจดีต่อเนื่อง (viable) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองระยะสั้น โดยบริษัทต้องมีแผนระดมทุนในระยะยาว และมีธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจและร่วมปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดการระดมทุนในตลาด หรือจากระบบสถาบันการเงินมาให้เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะมาขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด โดย BSF จะมีแนวทางที่ชัดเจนหากบริษัทผู้ออกถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating downgrade) ในภายหลัง
"ธปท.ยังคงยึดมั่นในหลักการดูแลเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพ ไม่ใช่การดูแลนักลงทุนรายบุคคล แต่เป็นการดูแลระบบการเงินของประเทศ บรรดาธนาคารกลางในหลายประเทศ ก็ได้เข้ามาดูแลส่วนต่างๆ ของระบบการเงินที่อาจจะเป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างความเสี่ยงเชิงระบบไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของระบบการเงิน และสู่ภาคเศรษฐกิจจริงในที่สุด การทำงานของ ธปท.ได้หารือและรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ จึงขอให้เชื่อมั่นว่าข้อกังวลต่างๆ ของท่านอดีตผู้บริหารเป็นหลักการทำงานที่ ธปท. ยึดมั่นมาโดยตลอด และยินดีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนต่อไป" นางจันทวรรณกล่าว
วันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยแพร่เอกสารข่าวว่า จากการแพร่กระจายของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ นำไปสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และอาจนำมาสู่การผิดนัดชำระของบางบริษัทในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเป็นแหล่งการระดมทุนของธุรกิจและแหล่งการออมที่สำคัญที่ต่อเชื่อมกับระบบการเงินของประเทศ
ดังนั้น การที่ภาครัฐได้เข้ามาดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งกองทุน Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมันในตลาดตราสารหนี้และตลาดการเงินโดยรวม โดยมาตรการดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของธนาคารกลางใหญ่ๆ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
“กองทุน BSF จะทำหน้าที่ช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีและมีแผนการจัดหาเงินทุนในระยะยาว ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้แล้ว ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจในวงกว้าง อันจะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดเงิน ตลาดทุนและเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย” เอกสารตลท.ระบุ
ทั้งนี้ ตลท.ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยได้ติดตามสถานะทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเตรียมพร้อมรับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ตลท. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ร่วมตลาดทุน ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรคระบาดในครั้งนี้
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์นี้จะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วและเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนสามารถรอดพ้นจากวิกฤติและสามารถกลับมาร่วมสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” ตลท.ย้ำ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา อดีตประธานคณะกรรมการ อดีตผู้บริหารและอดีตพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย นำโดยดร.วีรพงษ์ รามางกูร ,ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ,ดร.ศิริ การเจริญดี ,นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายเสรี จินตนเสรี ฯลฯ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีเนื้อความว่า
“พวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการ อดีตผู้บริหารและอดีตพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ใคร่ขอกราบเรียนเกี่ยวกับร่างพระราชกำหนดที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อออกพระราชกำหนด 2 ฉบับ ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเข้าไปจัดสรเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยสภาพคล่องของวิสาหกิจเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม โดยจัดสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสถาบันการงินต่างๆ
กับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินที่จะไถ่ถอน หรือออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถไถ่ถอนหรือซื้อตราสารของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ (Investment grade) ลงทุนได้ในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท
พวกข้าพเจ้าเห็นว่ากรณีหลังนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort) และอาจจะขยายไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลด้วยเท่านั้น
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง โดยการแก้กฎหมาย จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคต เพราะกฎหมายอนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดุลยพินิจในการให้ความอนุเคราะห์แก่บางรายและไม่ให้แก่บางราย โดยอ้างการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
และเมื่อมีปัญหาเกิดการฟ้องร้อง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องทำการฟ้องร้องบริษัทเอกชน ซึ่งจะทำให้เสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้
ดังนั้นแทนที่จะแก้กฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอน หรือตราสารหนี้ที่ออกใหม่โดยตรง
รัฐบาลควรให้นโยบายสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหรือธนาคารเพื่อการเกษตรดำเนินการได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ และไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเองโดยตรง ไม่ต้องแก้กฎหมายเพราะหลักการของกฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว”
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage