บอร์ด สปสช.ไฟเขียว 7 มาตรการด่วน หนุนควบคุม ลดแพร่ระบาด COVID-19 ทั้งจัดส่งยาผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ขยายโครงการรับยาใกล้บ้าน ผู้ป่วยเรื้อรังรับบริการนอกหน่วยบริการประจำตามความจำเป็น จ่ายชดเชยค่าบริการ รพ.สนาม และเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการเสียหายจากกรณี COVID-19 เป็น 2 เท่า เป็นต้น รับรองมติเดินหน้าทันที พร้อมมอบ สปสช. ปรับปรุงประกาศและหลักเกณฑ์รองรับ
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุม บอร์ด สปสช.วันนี้ เนื่องจากได้ติดภารกิจเร่งด่วนทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ มีวาระพิจารณาสำคัญ เรื่อง ข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับ “กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19” จึงมอบนโยบายขอให้ที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณามาตรการต่างๆ ในวาระนี้เพื่อสนับสนุนการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการขณะนี้
ในการประชุมบอร์ด สปสช. โดยมี พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เห็นชอบ “มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการควบคุมและลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19” ภายใต้งบประมาณค่าใช้จ่ายสาหรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 จำนวน 4,649 ล้านบาท ตามข้อเสนอเพิ่มเติม 7 ข้อ ดังนี้
1. การส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าที่บ้านทางไปรษณีย์ โดยจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการเพิ่มเติมในอัตราไม่เกิน 50บาท/ครั้ง จากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 หมวด 11 ค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สาหรับการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วย บริการร่วมกับหน่วยร่วมให้บริการ ช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ตามข้อเสนอกรมการแพทย์ และเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet)
2. เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยา ลดความแออัดในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ขยายจำนวนร้านยาในโครงการรับยาใกล้บ้าน ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่หน่วยบริการ พร้อมเพิ่มเติมระบบโรงพยาบาลจัดสำรองยาที่ร้านยาและระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยา
3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถรับยาหรือบริการทางการแพทย์ตามความจำเป็นนอกหน่วยบริการประจำได้ ถือเป็นเจ็บป่วยกรณีฉุกเฉินในมิติของประชาชนภายใต้สถานการณ์โรคระบาด
4. สถานบริการอื่นที่ให้บริการกรณีโรค COVID-19 ให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการ กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อโโควิดเป็นไปตามประกาศที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
5. จ่ายชดเชยค่าบริการ COVID 19 ให้โรงพยาบาลสนามหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการรับรองตามเกณฑ์ประเมินจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้าน
6. เสนอปรับแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การ จ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจาเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริม การจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2559 โดยให้รายการค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ ปีงบประมาณ 2563 ใช้ซื้อครุภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ COVID 19 ได้ และเพิ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณี COVID19 เป็น 2 เท่าจากเดิม โดยใช้งบกลางจ่ายเพิ่มเติม
และ 7. มอบเลขาธิการ สปสช. และประธานบอร์ด สปสช. พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราค่าใช้จ่าย และการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยบริการและสถานบริการภายใต้รายการและกรอบวงเงินที่คณะกรรมการกำหนดและเสนอให้ประธานบอร์ด สปสช. ลงนามประกาศใช้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การบริหารกองทุนได้ทันต่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19
“ตามมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทั้ง 7 ข้อเสนอนี้ บอร์ด สปสช.ยังได้มอบให้ สปสช. ดำเนินการปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งหลักเกณฑ์ แนวทาง วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยเพื่อรองรับเพิ่มเติม พร้อมรับรองมติให้ดำเนินการได้ทันที เนื่องจากเป็นวาระด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วในการ” พญ.ประสบศรี กล่าว
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ตามที่รัฐบาลมีมาตรการชะลอและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโดยการเว้นระยะห่างทางสังคม การประชุมบอร์ด สปสช.ในวันนี้ สปสช.ได้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 75/2557 โดยในวันนี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 19 คน และเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 11 คน เป็นจำนวนเกิน 1 ใน 3 ขององค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด