สทนช.เดินหน้าขยายผลการศึกษาสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาแผนจัดการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ พร้อมเร่งหารือหน่วยเกี่ยวข้องวางกรอบมาตรการป้องกัน หลัง 6 จังหวัดภาคใต้เริ่มมีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำในเชิงลุ่มน้ำเป็นเรื่องที่ สทนช.ให้ความสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ร่วมให้ความเห็นเพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาที่แท้จริง ปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่นำไปสู่แนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ โดย สทนช.ได้นำแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มาใช้ศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่รายลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ รวมถึงล่าสุด คือ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งดำเนินการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ โดยมีการวิเคราะห์ผลกระทบในระดับภาพรวมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบ“บนลงล่าง” และ “ล่างขึ้นบน” ในทุกขั้นตอนของการศึกษา บนฐานความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 16.26 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง ยะลา ปัตตานี ระนอง สงขลา และสุราษฏร์ธานี โดยมีลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำปัตตานีแทรกตัวเป็นช่วง ๆ มีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปี 2,197 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 24,563 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ศักยภาพเก็บกักในแหล่งน้ำต่างในพื้นที่มีประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี แต่มีความต้องการน้ำถึง 10,216 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำตลอดมา ประกอบกับปัญหาการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ทำให้มีแนวโน้มการขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้มีปัญหาด้านอุทกภัยเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการศึกษาได้ดำเนินการถึงขั้นตอนการเสนอทางเลือกสำหรับการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก 4 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 การพัฒนาพื้นที่ตามสภาพปัจจุบัน ทางเลือกที่ 2 การพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ทางเลือกที่ 3 การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจสาขาท่องเที่ยวและเกษตรกรรม และทางเลือกที่ 4 การพัฒนาพื้นที่เต็มศักยภาพ และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการร่วมกับผลการรับฟังความเห็นหรือการเรียนรู้ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านเวทีการประชุมทั้งในระดับลุ่มน้ำ และระดับลุ่มน้ำสาขา ในเบื้องต้นผลจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเห็นว่า ทางเลือกที่เหมาะสมต่อการพัฒนานั้น ได้แก่ ทางเลือกที่ 3 การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจสาขาท่องเที่ยวและเกษตรกรรม อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดของผลการศึกษาเมื่อได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านแล้ว จะทำให้ได้กรอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกในเชิงบูรณาการ และสอดคล้องกับการพัฒนาตามทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นให้มีการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว การบรรเทาผลกระทบกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาพปัญหาในพื้นที่ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งล่าสุด สทนช.ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล พัทลุง และภูเก็ต ซึ่งพบว่าปริมาณฝนตกน้อยอาจกระทบต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคได้ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้านี้เนื่องจากฝนภาคใต้ตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยล่าสุดกองอำนวยการน้ำได้เร่งดำเนินการวางมาตรการแก้ไขปัญหาโดยมีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการ