"สทนช." ลงพื้นที่ติดตามการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการพัฒนาน้ำต้นทุนลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง บูรณาการมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พัฒนาทางเลือกบริหารจัดการน้ำ พร้อมเปิดรับการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เชื่อมั่นสามารถแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่อย่างยั่งยืน
นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช. กำลังดำเนินโครงการศึกษาเพื่อการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์(SEA) โครงการพัฒนาน้ำต้นทุนลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน เนื่องจากตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสำคัญของภาคตะวันออก และเป็น 1 ใน 22 ลุ่มน้ำตามร่างแบ่งลุ่มน้ำใหม่ของประเทศไทย ต้องประสบกับปัญหาแล้งท่วมซ้ำซากทุกปี จากสาเหตุหลักคือไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำเพียงพอ โดยบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำมีความลาดชันสูง ทำให้ปริมาณน้ำหลากไหลลงท่วมพื้นที่ราบท้ายลุ่มน้ำในช่วงฤดูฝน แต่พอถึงฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาชาดแคลนน้ำ เพราะปริมาณน้ำท่าส่วนใหญ่จะไหลออกสู่ทะเลในที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มจากอ่าวไทย เนื่องจากช่วงท้ายของแม่น้ำมีความลาดชันน้อย ทำให้น้ำเค็มรุกล้ำจากปากแม่น้ำบางปะกงลึกเข้ามาในแม่น้ำมากกว่า 100 กม.
โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีปริมาณน้ำท่าเพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็ม ส่งผลให้น้ำเค็มรุกล้ำไปจนถึงแม่น้ำปราจีนบุรี และมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่จะนำไปใช้เพื่อการเกษตรและการผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภค-บริโภค ประกอบกับพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง เป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ไปจนถึงเกิดการแย่งน้ำระหว่างภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาถึงต้นเหตุครอบคลุมในทุกปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะเป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อพัฒนาทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในที่เหมาะสมและมั่นคง
รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ จากการระดมความคิดเห็น การวิเคราะห์ปัญหา ศักยภาพและข้อจำกัดพร้อมกับแนวทางการแก้ไขในพื้นที่ลุ่มน้ำร่วมกัน สามารถแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนตามลักษณะทางกายภาพ (ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ) โดยเมื่อทำการวิเคราะห์ทางเลือกแล้วพบว่า ในแต่ละพื้นที่ควรดำเนินการ ดังนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน ต้องดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานฯและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประปาในชุมชนชนบท การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม เช่น ปรับปรุงลำน้ำ/สิ่งกีดขวางลำน้ำ การขุดลอกเพิ่มความจุ การเพิ่มอาคารควบคุม/บังคับน้ำ และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง และการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางและระบบส่งน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำตอนกลาง และปลายน้ำ จะต้องดำเนินการการพัฒนาระบบสูบน้ำย้อนกลับ การเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด การนำปริมาณน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ และการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพโครงการและระบบส่งน้ำเดิม เป็นต้น โดยหลังจากนี้ สทนช.จะนำทางเลือกทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญของแผน และจะนำไปใช้ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกงต่อไป