นิด้าโพลเผย ประชาชนกว่า 40.86% เห็นด้วย “วิ่งไล่ลุง” เรียกร้องรัฐบาลหันมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ด้านกิจกรรม “วิ่ง/เดินเชียร์ลุง” 18.92% พร้อมหนุนบิ๊กตู่ช่วยบ้านเมืองสงบสุข-กังวลความขัดแย้งการเมืองรุนแรงกว่าอดีตในปี 63
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วิ่งไล่ลุง-วิ่ง/เดินเชียร์ลุง 2563” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 ธ.ค. 2562
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในเดือน ม.ค. 2563 ที่จะถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 40.86 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นเพียงกิจกรรมอย่างหนึ่งที่แสดงออกบนพื้นฐานของความถูกต้อง และเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ร้อยละ 12.24 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยในสิทธิเท่าเทียมกัน ดีกว่าประท้วงรุนแรง และถือว่าเป็นการมาออกกำลังกายร่วมกัน ร้อยละ 12.00 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ต่อให้จัดกิจกรรมขึ้นมาก็ไม่มีประโยชน์ อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และอยากให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น ร้อยละ 31.32 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ เป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายไม่ว่าจะมารูปแบบไหนก็ตาม และอยากให้คนไทยมีความสามัคคีกัน ไม่อยากให้มีการประท้วงเกิดขึ้น และร้อยละ 3.58 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรม “วิ่ง/เดินเชียร์ลุง” ในเดือน ม.ค. 2563 ที่จะถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 18.92 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ นายกรัฐมนตรีทำให้บ้านเมืองสงบสุข ถือว่าเป็นกำลังใจให้นายกฯทำงานต่อไป และเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ร้อยละ 9.30 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ อยากให้นายกรัฐมนตรีบริหารงานต่อไป เพื่อความสงบสุขของประเทศ และเป็นการแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่า มีคนรักเเละสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่ ร้อยละ 17.65 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ เกิดความแตกแยกส่งผลให้มีการปะทะกัน จนไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และกลัวจะเกิดปัญหาตามมาจึงไม่อยากให้มีการทำกิจกรรมทั้งสองฝ่าย ร้อยละ 49.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ไม่อยากให้ทำกิจกรรมพร้อมกันทั้งสองฝ่าย กลัวบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย อยากให้บ้านเมืองสงบ และอยากให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ และร้อยละ 4.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อประเทศไทยในปี 2563 จะเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบเดียวกับในอดีตพบว่า ร้อยละ 21.62 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากกว่าในอดีต ร้อยละ 21.86 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้ง ทางการเมืองพอ ๆ กับในอดีต ร้อยละ 22.81 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองแต่คงไม่เท่าในอดีต ร้อยละ 13.04 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 19.00 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และร้อยละ 1.67 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ